สรุปข่าวการประชุมคณะรัฐมนตรี 19 กุมภาพันธ์ 2556




http://www.thaigov.go.th                                                                      วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2556     

                                                                                                                                           
        วันนี้ เมื่อเวลา 09.00 น. ณ ห้องประชุมคณะรัฐมนตรี ชั้น 2 สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล   นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี 
        จากนั้น นายทศพร เสรีรักษ์  โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี  พร้อมด้วย นายภักดีหาญส์            หิมะทองคำ  นายชลิตรัตน์ จันทรุเบกษา  รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี  ได้แถลงข่าว ผลการประชุมคณะรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้

กฎหมาย
        1.     เรื่อง     ร่างพระราชบัญญัติจัดรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. ....
        2.     เรื่อง     ร่างกฎกระทรวงว่าด้วยการงดเว้นไม่เรียกเก็บภาษีสุราสำหรับสุรากลั่นชนิดสุรา                    สามทับที่นำไปทำการแปลงสภาพเพื่อส่งออกไปนอกราชอาณาจักร พ.ศ. ....
เศรษฐกิจ – สังคม
        3.     เรื่อง     แผนแม่บทพัฒนาส้วมสาธารณะไทย ระยะที่ 3 (พ.ศ. 2556 – 2559)
        4.     เรื่อง     ผลกระทบของมาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 19 เรื่อง ผลประโยชน์ของพนักงาน                    ต่อธนาคารออมสิน
        5.     เรื่อง     ร่างประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง ลดอัตราภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่ ..)
        6.     เรื่อง      ขอรับการสนับสนุนเงินชดเชยพิเศษให้กับกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกอ้อยเพื่อผลิต
                เอทานอล จังหวัดตาก
        7.      เรื่อง     มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 5 พ.ศ. 2555 เรื่อง การจัดการปัญหาหมอกควัน                ที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ
ต่างประเทศ
        8.     เรื่อง      การลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU)  ระหว่างกระทรวงมหาดไทยกับ                    สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยสหประชาชาติ ประจำภูมิภาคไทยฯ
        9.     เรื่อง     การลงนามข้อตกลงความร่วมมือว่าด้วยการกระชับความสัมพันธ์ทางการค้าและ                เศรษฐกิจระหว่างไทย – เขตบริหารพิเศษฮ่องกง
        10.     เรื่อง     การเป็นเจ้าภาพการประชุมระดับรัฐมนตรี ครั้งที่ 19 แผนงาน IMT – GT
        11.     เรื่อง     การประเมินผลโครงการความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้านของ                 สพพ.
แต่งตั้ง
        12.      เรื่อง     แต่งตั้ง
    1.     แต่งตั้งข้าราชการ (สำนักนายกรัฐมนตรี)
    2.     รัฐบาลสหภาพคอโมโรสเสนอขอแต่งตั้งเอกอัครราชทูตประจำประเทศไทย
    3.     แต่งตั้งข้าราชการ (กระทรวงศึกษาธิการ)
    4.     แต่งตั้งอนุกรรมการเพิ่มเติมภายใต้คณะกรรมการประสานงานร่วมระหว่าง        ไทย-เมียนมาร์เพื่อการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายและพื้นที่โครงการ
        ที่เกี่ยวข้อง





    5.     คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 49/2556 เรื่อง มอบหมายให้รัฐมนตรีประจำ        สำนักนายกรัฐมนตรีปฏิบัติหน้าที่กรรมการในคณะกรรมการตามกฎหมาย
    6.     แต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการบริหารสำนักงานส่งเสริม            อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ
    7.     แต่งตั้งรองประธานกรรมการและกรรมการอื่นในคณะกรรมการธนาคารเพื่อ        การเกษตรและสหกรณ์การเกษตร


   
************************

เอกสารชุดนี้เป็นเอกสารข่าวสรุปผลการประชุมคณะรัฐมนตรีเท่านั้น
สำหรับมติคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการกรุณาตรวจสอบที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี
 โทร . 0 2280-9000
สำนักโฆษกขอเชิญติดตามการถ่ายทอดสดการแถลงข่าวผลการประชุมคณะรัฐมนตรี
ทุกวันอังคาร หรือวันที่มีการประชุม ทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย ทาง F.M. 92.5
ในเขตกรุงเทพมหานคร ส่วนต่างจังหวัด
รับฟังได้ทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยประจำจังหวัด
สำนักโฆษก   สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396


























กฎหมาย
1. เรื่อง ร่างพระราชบัญญัติจัดรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. ....
        คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติจัดรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้รับความเห็นของส่วนราชการที่เกี่ยวข้องไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาก่อนเสนอสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาต่อไป
        ทั้งนี้  มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีการวบรวมกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการใช้ประโยชน์ในที่ดินและกรรมสิทธิ์ที่ดิน เช่น กฎหมายเกี่ยวกับป่าไม้  ที่ราชพัสดุ  ผังเมือง ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของส่วนราชการต่าง ๆ  มาพิจารณาว่า ยังมีความทับซ้อนอย่างไร   เพื่อนำที่ดินทั้งหมดมาใช้ประโยชน์ให้ได้มากที่สุด   ทั้งในกรณีอนุรักษ์ เกษตรกรรม ที่อยู่อาศัยและความมั่นคง  เป็นต้น  
         สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ
        1. ให้ยกเลิกพระราชบัญญัติคันและคูน้ำ พ.ศ. 2505 พระราชบัญญัติจัดรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2517 และพระราชบัญญัติจัดรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2534
          2. กำหนดนิยามคำว่า “การจัดรูปที่ดิน” “การจัดระบบน้ำเพื่อเกษตรกรรม” “เกษตรกรรม” “เขตโครงการจัดรูปที่ดิน” “เขตการจัดระบบน้ำเพื่อเกษตรกรรม” และ “คณะกรรมการจัดรูปที่ดินจังหวัด”
        3. กำหนดให้มี “คณะกรรมการจัดรูปที่ดินกลาง” ประกอบด้วย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นประธานกรรมการ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นรองประธานคนที่หนึ่ง ปลัดกระทรวงมหาดไทยเป็นรองประธานกรรมการคนที่สอง หัวหน้าส่วนราชการระดับกรมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จำนวน 18 หน่วยงาน เป็นกรรมการ และกรรมการอื่นอีกไม่เกินเจ็ดคน  ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์แต่งตั้ง  และให้หัวหน้าสำนักงานจัดรูปที่ดินกลางเป็นกรรมการและเลขานุการ
        4. กำหนดให้เมื่อได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตสำรวจการจัดรูปที่ดินตามมาตรา 36 ใช้บังคับในบริเวณใดในเขตกรุงเทพมหานครให้มีคณะกรรมการจัดรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมประจำกรุงเทพมหานคร เรียกว่า “คณะกรรมการจัดรูปที่ดินกรุงเทพมหานคร” และกรณีใช้บังคับในบริเวณใดในจังหวัดใดแล้ว ให้มีคณะกรรมการ
จัดรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมประจำจังหวัด เรียกว่า “คณะกรรมการจัดรูปที่ดินจังหวัด” 
        5. กำหนดให้คณะกรรมการจัดรูปที่ดินกลางและคณะกรรมการจัดรูปที่ดินจังหวัดมีอำนาจหน้าที่ตามที่กำหนด
        6. กำหนดให้จัดตั้งสำนักงานจัดรูปที่ดินกลางขึ้นในกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์   มีอำนาจหน้าที่ ได้แก่ การดำเนินการจัดระบบน้ำเพื่อเกษตรกรรม การจัดรูปที่ดิน เป็นต้น และให้สำนักงานจัดรูปที่ดินกลางทำหน้าที่เป็นสำนักงานจัดรูปที่ดินกรุงเทพมหานครด้วย ทั้งนี้ ในกรณีที่คณะกรรมการจัดรูปที่ดินกลางเห็นสมควรให้มีการจัดการลำเลียงน้ำจากทางน้ำชลประทาน หรือแหล่งน้ำอื่นใดไปใช้เพื่อประโยชน์ในพื้นที่ใด และเป็นพื้นที่ที่ยังมิได้ประกาศเป็นเขตโครงการจัดรูปที่ดิน  ให้เสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อออกประกาศกำหนดแนวเขตสำรวจการจัดระบบน้ำเพื่อเกษตรกรรมในเขตพื้นที่นั้น และให้มีแผนที่สังเขปแสดงเขตท้องที่ที่จะสำรวจไว้ด้วย
        7. กำหนดให้คณะกรรมการจัดรูปที่ดินกลางกำหนดหลักเกณฑ์ และวิธีการเรียกเก็บเงินค่าใช้จ่ายในการจัดระบบน้ำเพื่อเกษตรกรรม การซ่อมแซมและบำรุงรักษา การใช้น้ำในแนวเขตการจัดระบบน้ำเพื่อเกษตรกรรม และการเรียกเก็บเงินค่าใช้จ่ายในการจัดรูปที่ดิน การซ่อมแซมและบำรุงรักษา การใช้น้ำเพื่อประโยชน์ในการประกอบธุรกิจการเกษตร หรือใช้น้ำมากเกินควรในเขตโครงการจัดรูปที่ดินจากเจ้าของที่ดินหรือผู้ได้รับสิทธิในที่ดิน
        8. กำหนดให้ในกรณีที่คณะกรรมการจัดรูปที่ดินกลางเห็นสมควรกำหนดให้พื้นที่เกษตรกรรมใดหรือพื้นที่ในเขตจัดระบบน้ำเพื่อเกษตรกรรมเป็นเขตโครงการจัดรูปที่ดินตามพระราชบัญญัตินี้  ให้เสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อตราพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตสำรวจการจัดรูปที่ดิน และให้มีแผนที่สังเขปแสดงเขตท้องที่ที่จะสำรวจไว้ด้วย พระราชกฤษฎีกาให้ใช้บังคับได้มีกำหนดห้าปี
        9. กำหนดให้เมื่อได้มีพระราชกฤษฎีกาตามมาตรา 36 ใช้บังคับแล้ว ถ้าคณะกรรมการจัดรูปที่ดินจังหวัดเห็นสมควรให้นำที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน หรือที่ธรณีสงฆ์ภายในเขตตามพระราชกฤษฎีกานั้นมาดำเนินการจัดรูปที่ดินให้ดำเนินการตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด 
         10. กำหนดให้ภายในระยะเวลาห้าปีนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแสดงสิทธิในที่ดิน ในเขตโครงการจัดรูปที่ดิน เจ้าของที่ดินหรือผู้ได้รับสิทธิในที่ดินจะโอนสิทธิในที่ดินนั้นไปยังผู้อื่นมิได้ และที่ดินในเขตโครงการจัดรูปที่ดินไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี
        11. กำหนดให้จัดตั้ง “กองทุนจัดรูปที่ดิน” ในกรมชลประทาน ประกอบด้วยเงินและทรัพย์สิน ได้แก่ เงินที่ได้จากงบประมาณ เงินที่ได้จากกองทุนสงเคราะห์เกษตรกร เป็นต้น

2. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงว่าด้วยการงดเว้นไม่เรียกเก็บภาษีสุราสำหรับสุรากลั่นชนิดสุราสามทับที่นำไปทำการแปลงสภาพเพื่อส่งออกไปนอกราชอาณาจักร พ.ศ. ....
        คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงว่าด้วยการงดเว้นไม่เรียกเก็บภาษีสุราสำหรับสุรากลั่นชนิดสุราสามทับที่นำไปทำการแปลงสภาพเพื่อส่งออกไปนอกราชอาณาจักร พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วให้ดำเนินการต่อไปได้ 
         ข้อเท็จจริง
        กค. เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาว่า
        1. เนื่องจากเอทานอล (Ethanal) ถือเป็นสุรากลั่นชนิดสุราสามทับตามพระราชบัญญัติสุรา        พ.ศ. 2493 ซึ่งปัจจุบันกรมสรรพสามิต จัดเก็บภาษีสุรากลั่นชนิดสุราสามทับ ดังนี้
             1.1 สุราสามทับที่นำไปใช้ในการอุตสาหกรรม หรือที่นำไปทำการแปลงสภาพ ทั้งนี้
ตามวิธีการที่อธิบดีกำหนด ในอัตราตามมูลค่าร้อยละ 2 หรืออัตราตามปริมาณ 1 บาทต่อลิตร
            1.2 สุราสามทับที่นำไปใช้ในการแพทย์ เภสัชกรรม และวิทยาศาสตร์ ทั้งนี้ ตามวิธีการที่อธิบดีกำหนด ในอัตรามูลค่าร้อยละ 0.1 หรืออัตราตามปริมาณ 0.05 บาทต่อลิตร
            1.3 อื่น ๆ นอกจาก 1.1 และ 1.2 ในอัตราตามมูลค่าร้อยละ 10 หรืออัตราตามปริมาณ
6 บาทต่อลิตรแห่งแอลกอฮอล์บริสุทธิ์
            1.4 สุราสามทับที่นำไปผสมกับน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงตามวิธีการที่อธิบดีกำหนด งดเว้นภาษี
            1.5 สุราสามทับที่ส่งออกไปนอกราชอาณาจักร ได้รับการยกเว้นหรือคืนค่าภาษีสุรา
แล้วแต่กรณี 
         2. สมาคมการค้าผู้ผลิตเอทานอลไทย ได้มีหนังสือขอความช่วยเหลือสนับสนุนอุตสาหกรรม
เอทานอล กรณีรัฐบาลได้ส่งเสริมให้มีการผลิตเอทานอลเป็นพลังงานทดแทน  โดยในปัจจุบันมีโรงงานที่เปิดดำเนินการผลิตแล้วรวมทั้งสิ้น 19 โรงงาน มีกำลังการผลิตรวม 2.925 ล้านลิตรต่อวัน ซึ่งในช่วงที่ผ่านมารัฐบาลได้มีมาตรการให้การส่งเสริมการผลิตเอทานอลโดยได้ให้สิทธิประโยชน์ทางด้านการลงทุน BOI และมีมาตรการส่งเสริม
เอทานอลที่สำคัญ ๆ อีกหลายประการ รวมทั้งกระทรวงพลังงานได้มีแผนพัฒนาพลังงานทดแทน 15 ปี (2551-2565) โดยมีเป้าหมายส่งเสริมเอทานอลให้เกิดการผลิตและการใช้ไม่น้อยกว่า 2.96 ล้านลิตรต่อวันภายในปี 2554 เพิ่มเป็นไม่น้อยกว่า 6.2 ล้านลิตรต่อวันภายในปี 2557 และไม่น้อยกว่า 9 ล้านลิตรต่อวันภายในปี 2565 ทั้งนี้ เพื่อลดการพึ่งพาน้ำมัน เพิ่มมูลค่าและสร้างเสถียรภาพให้กับผลผลิตทางการเกษตร แต่เนื่องจากในปัจจุบันแม้จะมีการส่งเสริมการใช้เอทานอลแต่การใช้เอทานอลภายในประเทศก็ยังอยู่ในระดับ 1.3 ล้านลิตรต่อวัน  ซึ่งไม่เป็นไปตามแผนพัฒนาพลังงานทดแทน 15 ปี และไม่สอดคล้องกับกำลังการผลิตที่มีอยู่  ทำให้เกิดปัญหาเอทานอลล้นตลาด กำลังการผลิตสูงเกินกว่าปริมาณการใช้เป็นจำนวนมาก
         3. จากสภาพดังกล่าวทำให้เกิดปัญหาเอทานอลล้นตลาด กำลังการผลิตสูงเกินกว่าปริมาณการใช้เป็นจำนวนมาก ผู้ผลิตเอทานอลได้รับความเดือดร้อน จึงควรสนับสนุนให้มีการส่งเอทานอลออกไปนอกราชอาณาจักร แต่โดยที่ตลาดต่างประเทศมีความต้องการใช้เอทานอลทั้งที่แปลงสภาพแล้วและที่ยังไม่ได้แปลงสภาพ  แต่ตามกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันกำหนดให้การส่งสุราสามทับ (เอทานอล) ออกไปนอกราชอาณาจักรได้รับการยกเว้นหรือคืนค่าภาษีสุรา ในขณะที่การนำสุราสามทับ (เอทานอล) ไปแปลงสภาพแล้วส่งออกไปนอกราชอาณาจักรจะต้องเสียภาษีสุราในอัตราตามมูลค่าร้อยละ 2 หรืออัตราตามปริมาณ 1 บาทต่อลิตรอย่างใดอย่างหนึ่งที่คิดเป็นเงินภาษีสูงกว่า ดังนั้น เพื่อเป็นการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการสามารถผลิตเอทานอลได้เต็มกำลังความสามารถ  เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกับต่างประเทศ เพิ่มมูลค่าและสร้างเสถียรภาพให้กับผลผลิตทางการเกษตร รวมทั้งสร้างความเป็นธรรมให้แก่ผู้ส่งออกสุราสามทับ (เอทานอล) จึงเห็นควรงดเว้นไม่เรียกเก็บภาษีสุราดังกล่าวแม้จะส่งผลให้รายได้ภาษีสุราลดลงแต่ก็จะส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมเอทานอล และเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ
        สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง
        กำหนดให้งดเว้นไม่เรียกเก็บภาษีสุราสำหรับสุรากลั่นชนิดสุราสามทับที่นำไปทำการแปลงสภาพ
เพื่อส่งออกไปนอกราชอาณาจักร ตามวิธีการที่อธิบดีกำหนด

เศรษฐกิจ – สังคม
3. เรื่อง แผนแม่บทพัฒนาส้วมสาธารณะไทย ระยะที่ 3 (พ.ศ. 2556 – 2559)
        คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เสนอ ดังนี้
        1. เห็นชอบในหลักการแผนแม่บทพัฒนาส้วมสาธารณะไทย ระยะที่ 3 (พ.ศ. 2556 – 2559)
        2. ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำแผนแม่บทพัฒนาส้วมสาธารณะไทย ระยะที่ 3 (พ.ศ. 2556 – 2559) ไปสู่การปฏิบัติเพื่อให้บรรลุตามเป้าหมายความสำเร็จที่กำหนดไว้
        สาระสำคัญของแผนแม่บทพัฒนาส้วมสาธารณะไทย ระยะที่ 3 (พ.ศ. 2556 – 2559) มีดังนี้
        1. วัตถุประสงค์ ได้แก่ (1) เพื่อพัฒนาส้วมครัวเรือนให้เหมาะสมในการรองรับต่อการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (2) เพื่อให้ประเทศมีส้วมสาธารณะได้มาตรฐาน สะอาด เพียงพอ ปลอดภัย (3) เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้คนไทยมีพฤติกรรมการใช้ส้วมสาธารณะที่ถูกสุขลักษณะ (4) เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นมีการจัดการสิ่งปฏิกูลอย่าง ถูกหลักสุขาภิบาล
        2. เป้าหมายความสำคัญ มีดังนี้ (1) ครัวเรือนไทยใช้ส้วมแบบ “ส้วมนั่งราบ” ร้อยละ 90 ภายในปี พ.ศ. 2559 (2) สถานบริการสาธารณะ และสถานที่สาธารณะมีบริการ “ส้วมนั่งราบ” อย่างน้อย 1 ที่ร้อยละ 10 ของกลุ่มเป้าหมายภายในปี พ.ศ. 2559 (3) ประเทศไทยมีส้วมสาธารณะที่สะอาด เพียงพอ ปลอดภัย ร้อยละ 90 ของกลุ่มเป้าหมายภายในปี พ.ศ. 2559 (4) คนไทยมีพฤติกรรมการใช้ส้วมสาธารณะถูกสุขลักษณะ ร้อยละ 90 ของผู้ใช้บริการในปี พ.ศ. 2559 (5) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีการจัดการสิ่งปฏิกูลอย่างถูกหลักสุขาภิบาล ร้อยละ 50 ภายในปี พ.ศ. 2559
        3. กลุ่มเป้าหมาย
            (1) ส้วมครัวเรือน
            (2) ส้วมสาธารณะในสถานบริการสาธารณะและสถานที่สาธารณะ 12 ประเภท ได้แก่          1. แหล่งท่องเที่ยว 2. ร้านจำหน่ายอาหาร 3. ตลาดสด 4. สถานนีขนส่งทางบกและทางอากาศ 5. สถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง 6. สถานศึกษา 7. โรงพยาบาล 8. สถานที่ราชการ 9. สวนสาธารณะ 10. ศาสนสถาน 11. ส้วมสาธารณะ ริมทาง และ 12. ห้างสรรพสินค้า/ศูนย์การค้า/ดิสเคานต์สโตร์
        4. กลยุทธ์ เพื่อให้การดำเนินงานบรรลุเป้าประสงค์ได้มาตรฐานอย่างยั่งยืน จะใช้กลยุทธ์หลัก          ในการดำเนินงาน 4 กลยุทธ์ ดังนี้คือ (1) กลยุทธ์การสร้างการมีส่วนร่วม (Creating Particpation Strategy)
(2) กลยุทธ์การสื่อสารสาธารณะ (Public Communication Strategy)  (3) กลยุทธ์การใช้มาตรการทางสังคมและมาตรการทางกฎหมาย (Social and Law Enforcement Strategy)  (4) กลยุทธ์การพัฒนาวิชาการและการเรียนรู้ (Knowledge and Learning Strategy)
        5. การแปลงแผนไปสู่การปฏิบัติ แผนฯ จะสามารถนำไปสู่การปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรม            มีประสิทธิภาพ และเกิดประสิทธิผลได้ จำเป็นต้องมีกระบวนการประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกระดับทั้งส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค รวมถึงภาคเอกชนหรือเจ้าของสถานประกอบการ ในการดำเนินงานภายใต้แผนฯ การขับเคลื่อนโดยคณะกรรมการส้วมสาธารณะไทยผลักดันและให้การสนับสนุนแต่ละภาคส่วนให้มีการจัดทำเป็นแผนปฏิบัติการที่สอดคล้องกับบริบทของแต่ะละพื้นที่ เพื่อให้ประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุได้รับบริการที่มีมาตรฐานถูกสุขลักษณะ และสามารถดำรงชีวิตได้อย่างมีความสุขในสังคม
        6. การติดตามประเมินผล เพื่อประเมินผลสัมฤทธิ์ การดำเนินงานตามแผนฯ กำหนดให้มีการติดตามและประเมินผล โดยดำเนินการดังนี้
            (1) คณะกรรมการส้วมสาธารณะไทย มีหน้าที่ในการกำหนดนโยบาย อำนวยการและติดตามความกว้าหน้าผลการดำเนินงานส้วมสาธารณะไทย อาจแต่งตั้งคณะอนุกรรมการหรือคณะทำงานเพื่อการดำเนินงานให้มีประสิทธิภาพตามความเหมาะสม
            (2) ให้คณะอนุกรรมการหรือคณะทำงาน มีการติดตามและประเมินผลการดำเนินงานตามเป้าหมาย ตามแผนฯ ประจำทุกปี ในระยะครึ่งแผนฯ และระยะสิ้นสุดของแผนฯ และรายงานผลการดำเนินงาน ปัญหาอุปสรรคและข้อเสนอแนะ ในการปรับปรุงการดำเนินงานเพื่อให้บรรลุเป้าหมายของแผนฯ ต่อคณะกรรมการส้วมสาธารณะไทย

4. เรื่อง ผลกระทบของมาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 19 เรื่อง ผลประโยชน์ของพนักงานต่อธนาคารออมสิน
        คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ ดังนี้
        1. อนุมัติในหลักการให้ธนาคารออมสินนำค่าใช้จ่ายในอดีตที่ต้องตั้งทยอยรับรู้ตามมาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 19 เรื่องผลประโยชน์ของพนักงานธนาคารออมสิน มาบวกกลับในกำไรสุทธิเพื่อคำนวณโบนัส สำหรับใช้เป็นฐานในการคำนวณเงินนำส่งรายได้แผ่นดิน และการจัดสรรโบนัสพนักงานและคณะกรรมการธนาคารออมสิน
        2. การดำเนินการตามหลักการในข้อ 1. ธนาคารออมสินจะต้องมีกำไรสุทธิหน้างบการเงินที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินตรวจสอบและรับรองเพียงพอในการจ่ายเงินนำส่งรายได้แผ่นดิน โบนัสพนักงาน และโบนัสกรรมการธนาคารออมสิน
        ทั้งนี้  ในการดำเนินการเกี่ยวกับผลประโยชน์ของพนักงานธนาคาออมสินให้คำนึงถึงหลัก 3 ประการ ดังนี้  1) การดำเนินการดังกล่าวต้องไม่ก่อให้เกิดความไม่เท่าเทียมกันระหว่างรัฐวิสาหกิจอื่นที่เหลืออีก 56 แห่ง  2) ธนาคารออมสินต้องพิจารณาทบทวนแนวทางการดำเนินการของธนาคารออมสินในทุก ๆ  5 ปี 3) การดำเนินการในเรื่องนี้ต้องไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่ออัตราส่วนของเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง  

5. เรื่อง ร่างประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง ลดอัตราภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่ ..)
        คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง ลดอัตราภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่ ..) ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ และให้ดำเนินการต่อไปได้
        สาระสำคัญของร่างประกาศ
        กำหนดให้ขยายเวลาการปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลที่มีปริมาณกำมะถันไม่เกินร้อยละ 0.005 โดยน้ำหนัก ในอัตราภาษี 0.005 บาทต่อลิตร และน้ำมันดีเซลที่มีไบโอดีเซลประเภทเมทิลเอสเตอร์ของกรดไขมันผสมอยู่ไม่น้อยกว่าร้อยละ 4 ในอัตราภาษี 0.005 บาทต่อลิตร ออกไปอีก 1 เดือน คือตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2556 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2556

6. เรื่อง  ขอรับการสนับสนุนเงินชดเชยพิเศษให้กับกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกอ้อยเพื่อผลิตเอทานอล จังหวัดตาก
        คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติให้ใช้จ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ .ศ. 2555 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ที่ได้รับอนุมัติจากกระทรวงการคลังให้กันเงินไว้เบิกเหลื่อมปีแล้ว ภายในกรอบวงเงิน 78,000,000 บาท  โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและคณะกรรมการจัดทำแผนพัฒนาการทำเกษตรกรรมในพื้นที่ที่มีการปนเปื้อนสารแคดเมี่ยมที่เหมาะสมดำเนินการเกี่ยวกับหน่วยงานและสัดส่วนงบประมาณที่ต้องรับผิดชอบให้ชัดเจน  และให้ทำความตกลงในรายละเอียดกับสำนักงบประมาณตามขั้นตอนต่อไป ตามความเห็นของสำนักงบประมาณ 
        ทั้งนี้  มอบหมายให้ กระทรวงมหาดไทย เป็นหน่วยงานหลักรับไปพิจารณาร่วมกับกระทรวงพลังงาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อกำหนดมาตรการและแนวทางในการแก้ไขปัญหาและการให้ความช่วยเหลือแก่เกษตรกรผู้ปลูกอ้อยอย่างยั่งยืนต่อไป แล้วให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีภายใน 60 วัน


7.  เรื่อง มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 5 พ.ศ. 2555 เรื่อง การจัดการปัญหาหมอกควันที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ
        คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและรับทราบ ตามที่รองนายกรัฐมนตรี (นายปลอดประสพ สุรัสวดี) ประธานกรรมการสุขภาพแห่งชาติเสนอ ดังนี้
    1. เห็นชอบต่อมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 5 เมื่อวันที่ 18 – 20 ธันวาคม 2555 เรื่อง การจัดการปัญหาหมอกควันที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ ตามที่คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติเสนอ และมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปดำเนินการต่อไป
    2. รับทราบการประสานความร่วมมือด้านงบประมาณของรองนายกรัฐมนตรี (นายปลอดประสพ สุรัสวดี) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กับสำนักงานกองทุนสิ่งแวดล้อม และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพในการจัดการปัญหาหมอกควันที่รัฐบาลกำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้
    สาระสำคัญของมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 5 พ.ศ. 2555 เรื่อง การจัดการปัญหาหมอกควันที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ เป็นการหนุนเสริมมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษจากหมอกควันภาคเหนือตอนบนปี 2556 ของรัฐบาล โดยเฉพาะ (1) ในมาตรการที่ 3 สนับสนุน “ชุมชนมาตรฐาน หมู่บ้านปลอดการเผา” (2) มาตรการที่ 4 ส่งเสริมส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ ภาคเอกชน และภาคีเครือข่ายเข้าร่วมในการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษจากหมอกควัน (3) มาตรการที่ 5 สื่อสารประชาสัมพันธ์เชิงรุกสู่กลุ่มเป้าหมาย และ (4) มาตรการที่ 7 ขยายความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อลดปัญหาหมอกควันข้ามแดน ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 8 มกราคม 2556
    จากข้อเสนอตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติในเรื่องนี้เป็นข้อเสนอเชิงนโยบายที่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของรัฐบาลชุดปัจจุบัน ที่มอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรี (นายปลอดประสพ สุรัสวดี) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นฝ่ายอำนวยการและควบคุมการสั่งการระดับประเทศ ในการดำเนินการตามมาตรการป้องกันไฟป่าและหมอกควันประจำปี 2556 เพิ่มเติม ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 21 มกราคม 2556
    มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 5 พ.ศ. 2555 เรื่อง การจัดการปัญหาหมอกควันที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ เป็นมาตรการในระยะยาวที่มีขอบเขตครอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วประเทศ และให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของภาคีทุกภาคส่วนในพื้นที่ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง โดยเฉพาะประชาชนในพื้นที่ตามเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550

ต่างประเทศ
8. เรื่อง  การลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU)  ระหว่างกระทรวงมหาดไทยกับสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยสหประชาชาติ ประจำภูมิภาคไทยฯ
        คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการ ตามที่กระทรวงมหาดไทย (มท.) เสนอ 
1.    ให้ มท. โดยผู้ที่ปลัดกระทรวงมหาดไทยมอบหมายให้ควบคุมกำกับดูแลงานกองการ
ต่างประเทศ (สำนักงานศูนย์ดำนินการเกี่ยวกับผู้อพยพ)   เป็นผู้ลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MEMORANDUM OF UNDERSTANDING : MOU) กับสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (THE OFFICE OF THE UNITED NATIONS HIGH COMMISSONER FOR REFUGEES : UNHCR) เพื่อร่วมกันดำเนินการแก้ไขปัญหาผู้หนีภัยการสู้รบและบุคคลในความห่วงใย (Person Of Concern : POC)  ของ UNHCR ต่อไป
2.    เพื่อให้การปฏิบัติงานดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง สำหรับในปีต่อไปหากสารัตถะของบันทึกความ
เข้าใจ (MOU) ไม่มีการเปลี่ยนแปลงไปจากบันทึกความเข้าใจตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 11 มกราคม 2548 อนุมัติในหลักการให้สำนักงานศูนย์ดำเนินการเกี่ยวกับผู้อพยพ มท. เป็นผู้ลงนาม โดยให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีรับทราบในภายหลัง
        สาระสำคัญของเรื่อง
        มท. รายงานว่า
1.    รายละเอียดบันทึกความเข้าใจ (MOU)  การให้คามร่วมมือในการแก้ไขปัญหาผู้หนีภัยการสู้รบ
ในพื้นที่พักพิงชั่วคราวบริเวณชายแดนไทย – พม่า  โครงการจัดทำทะเบียนผู้หนีภัยการสู้รบและการพิจารณาสถานะบุคคลสัญชาติพม่าปี 2556 (MOU 2013/52281/1505/1 THAA/PF (1257000))  มีสาระสำคัญ ดังนี้
    ส่วนที่ 1 และส่วนที่ 2 ประกอบด้วย บทความเบื้องต้นเกี่ยวกับการให้ความร่วมมือในการ
แก้ไขปัญหาผู้หนีภัย ฯ รายละเอียดพื้นฐาน ได้แก่  ชื่อโครงการ / พื้นที่ของโครงการ / วันเริ่มและสิ้นสุดโครงการ / กำหนดเวลาการรายงานการเงิน / จำนวนงบประมาณในบันทึกความเข้าใจ / เลขที่บัญชีธนาคารที่จะโอนงบประมาณ
            ส่วนที่ 3 ระยะเวลาการใช้งบประมาณ
            ส่วนที่ 4 การให้ความร่วมมือของทั้งสองฝ่าย (มท./UNHCR) อาทิ การจัดหาทรัพยากรบุคคลเข้ามาช่วยเหลือปฏิบัติงานตามโครงการ การเก็บข้อมูลการปฏิบัติงานร่วมกันอย่างเป็นความลับ รวมทั้งจะไม่มีฝ่ายใดรับประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อมจากโครงการนี้
            ส่วนที่ 5 และส่วนที่ 6 ภารกิจ มท. และ UNHCR อาทิ  การนำงบประมาณจัดสรรเข้าบัญชีธนาคาร รวมทั้งการอำนวยความสะดวกในการตรวจสอบบัญชี การใช้ประโยชน์ในทรัพย์สินของ UNHCR การอำนวยความสะดวกในการเข้าพื้นที่เพื่อปฏิบัติงาน
            ส่วนที่ 7 ข้อกำหนดทั่วไป ชื่อผู้มีอำนาจในการลงนามในบันทึกความเข้าใจ
2.    มท. ได้ดำเนินการตรวจสอบบันทึกความเข้าใจ (MOU) ดังกล่าว ปี 2556 ซึ่งเป็นโครงการ
ต่อเนื่องแล้ว  เห็นว่า สาระสำคัญของบันทึกความเข้าใจดังกล่าวเป็นไปตามบันทึกความเข้าใจ (MOU)  เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2548 รวมทั้ง เป็นข้อตกลงที่อยู่ภายใต้หลักการความรับผิดชอบและการทำงานร่วมกันตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 23 มีนาคม 2547

9. เรื่อง การลงนามข้อตกลงความร่วมมือว่าด้วยการกระชับความสัมพันธ์ทางการค้าและเศรษฐกิจระหว่างไทย – เขตบริหารพิเศษฮ่องกง
        คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและอนุมัติตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ ดังนี้
        1. เห็นชอบร่างข้อตกลงความร่วมมือว่าด้วยการกระชับความสัมพันธ์ทางการค้าและเศรษฐกิจระหว่างไทย-เขตบริหารพิเศษฮ่องกง ที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ และหากมีความจำเป็นต้องปรับปรุงเอกสารที่ไม่ใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของประเทศไทย ให้กระทรวงพาณิชย์ดำเนินการได้โดยไม่ต้องเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอีก
        2. อนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นผู้ลงนามในร่างข้อตกลงความร่วมมือว่าด้วยการกระชับความสัมพันธ์ทางการค้าและเศรษฐกิจระหว่างไทย-เขตบริหารพิเศษฮ่องกง หรือหากติดภารกิจ ให้มอบหมายผู้อื่นลงนามแทนต่อไป
        สาระสำคัญร่างข้อตกลงฯ ของกระทรวงพาณิชย์ที่จะมีการลงนามโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ มีสาระสำคัญครอบคลุมสาขาความร่วมมือทางเศรษฐกิจด้านต่าง ๆ ประกอบด้วย 1. การอำนวยความสะดวกและส่งเสริมการค้าสินค้า 2. การอำนวยความสะดวกและการส่งเสริมการค้าบริการ 3. การอำนวยความสะดวกและการส่งเสริมการลงทุน 4. การแลกเปลี่ยนข้อมูลและความร่วมมือในการดำเนินการตามกฎระเบียบ
ที่เกี่ยวข้องกับการค้า 5. การส่งเสริมความร่วมมือระหว่างวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม 6. ความร่วมมือด้านโลจิสติกส์และการขนส่ง 7. ความร่วมมือและการส่งเสริมการท่องเที่ยว 8. การส่งเสริมการพัฒนาและการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและ R&D 9. ความร่วมมือด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และการพัฒนาศักยภาพ 10. ความร่วมมือด้านการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา 11. การอำนวยความสะดวกและส่งเสริมความร่วมมือในการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ 12. ความร่วมมือในสาขาอื่น ๆ ที่เห็นชอบร่วมกัน
        ทั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายจะตั้งกลไกการหารือภายใต้คณะกรรมการร่วมว่าด้วยความร่วมมือ (Joint Cooperation Committee: JCC) ระหว่างไทย-เขตบริหารพิเศษฮ่องกง โดยมีหัวหน้าคณะระดับอธิบดี

10. เรื่อง การเป็นเจ้าภาพการประชุมระดับรัฐมนตรี ครั้งที่ 19 แผนงาน IMT – GT
        คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบและเห็นชอบตามที่รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล) เสนอ ดังนี้
1. รับทราบความก้าวหน้าการดำเนินการตามผลการประชุมระดับรัฐมนตรี ครั้งที่ 18 แผนงานการพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่าย อินโดนีเซีย – มาเลเซีย – ไทย (Indonesia – Malaysia – Thailand Growth Triangle : IMT - GT)
        2. เห็นชอบในการมอบหมายสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เป็นหน่วยงานหลักและประสานหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องเตรียมการในการเป็นเจ้าภาพการจัดประชุมระดับรัฐมนตรี แผนงาน IMT – GT (IMT – GT Ministerial Meeting) ครั้งที่ 19 การประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส แผนงาน IMT – GT (IMT – GT Senior Officials’ Meeting) ครั้งที่ 20 และการประชุมระดับมุขมนตรีและผู้ว่าราชการจังหวัด แผนงาน IMT – GT (IMT – GT Chief Minister’ and Governors’ Forum) ครั้งที่ 10 ในช่วงเดือนสิงหาคม – กันยายน 2556 ณ อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี ดังต่อไปนี้
            2.1 มอบหมายให้ สศช. ร่วมกับกระทรวงมหาดไทย (มท.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมความพร้อมด้านสารัตถะ ได้แก่ ความก้าวหน้าการดำเนินการในแผนหมุนเวียนรอบที่หนึ่งระหว่างปี 2555 – 2556 แผนงานโครงการในแผนหมุนเวียนรอบที่สองระหว่างปี 2556 – 2557
            2.2 มอบหมาย สศช. ร่วมกับ มท. จังหวัดสุราษฎร์ธานี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมความพร้อมด้านสถานที่ประชุมรวมทั้งนิทรรศการและการเผยแพร่ข้อมูลของ 14 จังหวัดภาคใต้ อย่างเหมาะสม
            2.3 มอบหมาย สศช. เตรียมการด้านงบประมาณการจัดประชุมระหว่างประเทศ โดยให้จัดทำความตกลงในรายละเอียดกับสำนักงบประมาณ (สงป.) ภายในกรอบวงเงินงบประมาณ 3,526,000 บาท

11. เรื่อง การประเมินผลโครงการความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้านของ สพพ.
        คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอทั้ง 3 ข้อดังนี้
        1.รับทราบผลการร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยการให้ความช่วยเหลือทาง
การเงินและทางวิชาการแก่ประเทศเพื่อนบ้านของสำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน(องค์การมหาชน) (สพพ.)
        2. รับทราบผลการประเมินโครงการความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจที่แล้วเสร็จทั้ง4 โครงการ
        3. รับทราบข้อเสนอแนวทางเชิงนโยบายในการร่วมมือเพื่อพัฒนากับประเทศเพื่อนบ้านของ สพพ. ในอนาคต เพื่อใช้เป็นแนวทางการดำเนินงานต่อไป
        สาระสำคัญของเรื่อง
        กค. รายงานว่า
        1. ประเทศไทยได้ให้ความช่วยเหลือเพื่อร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน โดย ณ สิ้นปีงบประมาณ พ.ศ. 2555 สพพ.ได้ให้ความช่วยเหลือทางการเงินและทางวิชาการแก่ประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน คิดเป็นเงินรวมทั้งสิ้น 10,683.70  ล้านบาท ประกอบด้วย (1) โครงการให้ความช่วยเหลือทางการเงินรวม 18 โครงการ วงเงิน  10,547.80 ล้านบาท และ(2) โครงการให้ความช่วยเหลือทางวิชาการรวม 20 โครงการ วงเงิน 135.90 ล้านบาท แบ่งเป็น ความช่วยเหลือทางวิชาการเพื่อเตรียมความพร้อม 9 โครงการ รวมเป็นเงิน 132.00  ล้านบาท และความช่วยเหลือทางวิชาการเพื่อการถ่ายทอดความรู้แก่เจ้าหน้าที่ประเทศเพื่อนบ้าน 11 ครั้ง รวมเป็นเงิน 3.90 ล้านบาท
          2. ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2555 มีโครงการความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้านของ สพพ. ที่แล้วเสร็จและครบกำหนดเวลาที่สามารถประเมินผลโครงการได้ มี 4 โครงการ คือ 1)โครงการเชื่อมโยงคมนาคมระหว่างไทย -เมียนมาร์ จากเมียวดี – เชิงเขาตะนาวศรี (โครงการถนนเมียวดี)สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ (เมียนมาร์) 2) โครงการก่อสร้างเส้นทางรถไฟเชื่อมต่อระหว่างจังหวัดหนองคาย – ท่านาแล้ง(โครงการรถไฟท่านาแล้ง) สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) 3)โครงการปรับปรุงสนามบินระหว่างประเทศวัดไต (โครงการสนามบินวัดไต) สปป. ลาว 4) โครงการก่อสร้างร่องระบายน้ำฮ่องวัดไต(โครงการร่องระบายน้ำฮ่องวัดไต) สปป.ลาว
         3. ผลการประเมินโครงการในปีงบประมาณ พ.ศ. 2555 สพพ. ได้จัดจ้างที่ปรึกษาเพื่อดำเนินการประเมินผลโครงการตามข้อ 2. โดยศึกษาความคุ้มค่าของโครงการ และจัดทำข้อเสนอแนะเกี่ยวกับแนวทางการให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งการประเมินในภาพรวมของโครงการพบว่า ผลการประเมินอยู่ในระดับดี-ดีมาก สามารถสรุปได้ดังนี้
            1) ทุกโครงการสอดคล้องกับความต้องการของประเทศเพื่อนบ้าน และนโยบายของไทยในการเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีกับประเทศเพื่อนบ้าน รวมทั้งสนับสนุนการดำเนินงานภายใต้กรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาค
            2) ทุกโครงการก่อให้เกิดผลประโยชน์ทางตรงและทางอ้อมแก่ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่และผู้ใช้ประโยชน์จากโครงการ แต่เพื่อเป็นการต่อยอดโครงการและเพิ่มการใช้ประโยชน์จากโครงการควรมีการดำเนินงานเพิ่มเติมเป็นรายโครงการ ดังนี้
                (1) โครงการถนนเมียวดีอำนวยความสะดวกและความรวดเร็วในการเดินทาง
และการขนส่งสินค้า สนับสนุนให้เกิดการขยายตัวการค้าชายแดนไทย-เมียนมาร์บริเวณด่านแม่สอด จังหวัดตาก และก่อให้เกิดการลงทุนต่อเนื่อง ทั้งทางด้านการค้าและอุตสาหกรรม
    ข้อเสนอเพิ่มเติม (1)ขยายถนนจากเมียวดีต่อไปจนถึงเมืองเมาะลำไย และเมืองตาธง ซึ่งสามารถเชื่อมต่อไปยังย่างกุ้งและอินเดียได้ (2)บำรุงรักษาเส้นทางอย่างต่อเนื่อง กำหนดมาตรฐานการออกแบบก่อสร้างสอดคล้องกับสภาพการใช้งาน และมีการควบคุมน้ำหนักบรรทุก (3)จัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมแม่สอด (4) ปรับปรุงขั้นตอนและกฎเกณฑ์ต่างๆ และพิธีการศุลกากร เพื่ออำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าข้ามแดน และ (5) ก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเมย แห่งที่2 เพื่อลดความแออัดของการเดินทาง
    (2) โครงการรถไฟท่านาแล้ง เพิ่มรูปแบบการเดินทางโดยทางราง เนื่องจากเป็นทางรถไฟสายแรกของ สปป.ลาว ทำให้ สปป.ลาว สามารถเปลี่ยนจาก Land-locked Countryเป็น Land-linked Country ได้ แต่การใช้ประโยชน์ยังไม่เต็มประสิทธิภาพ เนื่องจากระยะทางยังสั้น (3.5กิโลเมตร) และไม่มีการขนส่งสินค้า
                ข้อเสนอเพิ่มเติม (1)ก่อสร้างทางรถไฟเชื่อมต่อจากสถานีท่านาแล้งถึงนครหลวงเวียงจันทน์(2) จัดตั้งศูนย์กองเก็บและขนถ่ายสินค้า (CY)บริเวณสถานีท่านาแล้ง (3) ปรับปรุงระบบอาณัติสัญญาณของสถานีท่านาแล้งจากระบบ Manualเป็นระบบอัตโนมัติ (4) ก่อสร้างสะพานสำหรับรถไฟโดยเฉพาะ เพื่อลดการสับหลีกหรือปิดกั้นการจราจรบนสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 1 (5) ร่วมมือกับการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) จัดหาหัวรถจักร และแคร่บรรทุก เพื่อรองรับการขนส่งสินค้าและ (6) ส่งเสริมผู้ประกอบการไทยเข้าไปจับคู่ธุรกิจ หาพันธมิตร เพื่อบริหารจัดการ CY บริเวณท่านาแล้ง และให้บริการด้านการประกันภัยใน สปป.ลาว
    (3) โครงการสนามบินวัดไตสามารถรองรับเครื่องบินขนาดใหญ่ได้ รวมทั้งสามารถรองรับการเดินทางเพื่อการท่องเที่ยว และการเข้ามาประกอบธุรกิจใน สปป.ลาว ทำให้ปริมาณผู้โดยสารและปริมาณเที่ยวบิน         ทั้งในประเทศและระหว่างประเทศของ สปป.ลาว มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น
    ข้อเสนอเพิ่มเติม ควรมีการพัฒนาบุคลากรทางด้านการบินของ สปป.ลาวเพิ่มเติม เพื่อให้สามารถบริหารจัดการสนามบินได้อย่างมีประสิทธิภาพ
    (4) โครงการร่องระบายน้ำฮ่องวัดไตสามารถแก้ไขปัญหาน้ำท่วมและช่วยให้การระบายน้ำบริเวณรอบสนามบินวัดไตและพื้นที่ใกล้เคียงดีขึ้น นอกจากนี้ ประชาชนยังสามารถใช้ถนน 2 ฝั่งของร่องระบายน้ำเป็นทางสัญจรได้
    ข้อเสนอเพิ่มเติม (1) จัดทำแผนแม่บทเพื่อพัฒนาและปรับปรุงแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในนครหลวงเวียงจันทน์อย่างเป็นระบบ (บำรุงรักษาร่องระบายน้ำเดิม ก่อสร้างร่องระบายน้ำเพิ่มเติม ก่อสร้างระบบบำบัดน้ำเสีย) และ (2) ปรับปรุงถนน 2 ฝั่งของร่องระบายน้ำให้เป็นถนนลาดยาง เพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในบริเวณดังกล่าวสำหรับการเดินทางช่วงฤดูฝน
        4. ข้อเสนอแนวทางเชิงนโยบายในการร่วมมือเพื่อการพัฒนากับประเทศเพื่อนบ้านของ สพพ.ในอนาคต
        คณะกรรมการบริหารสำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน(คพพ.) ได้รับทราบผลการประเมินโครงการทั้ง 4 โครงการที่กล่าวแล้ว และได้มีข้อเสนอแนะแนวทางเชิงนโยบายการร่วมมือเพื่อการพัฒนากับประเทศเพื่อนบ้านของ สพพ. ในอนาคต ดังนี้
        1) ยุทธศาสตร์การร่วมมือเพื่อการพัฒนากับประเทศเพื่อนบ้านของ สพพ. ยังคงให้ความสำคัญกับ  3 ด้านหลัก คือ (1) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในการเชื่อมโยงการคมนาคมขนส่งระหว่างประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน และภูมิภาค (Connectivity)เพื่อให้การคมนาคมขนส่งภายในภูมิภาคมีระยะทางสั้นลงและใช้เวลาในการเดินทางและขนส่งเร็วขึ้น รวมทั้งสามารถเชื่อมโยงไปภูมิภาคอื่นต่อไป (2) การสนับสนุนและส่งเสริมให้มีการขยายตัวทางด้านการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว เพื่อให้เกิดผลประโยชน์ร่วมกัน (Mutual Benefit) ระหว่างประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน และภูมิภาค เพื่อรองรับการรวมตัวเป็นประชาคมอาเซียนในปี 2558 และ (3)การเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน (Relationship)
        ทั้งนี้ ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้านจะให้ครอบคลุมทุกประเทศตามที่ระบุไว้ในพระราชกฤษฎีกาจัดตั้ง สพพ. ประกอบด้วย กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมาร์ และเวียดนาม รวมทั้งกระจายสาขาการร่วมมือเพื่อการพัฒนาไปยังสาขาอื่นๆ เพิ่มเติมนอกเหนือจากโครงสร้างพื้นฐานทางด้านการคมนาคมขนส่ง เช่น สาขาการศึกษาและการฝึกทักษะแรงงาน สาขาสาธารณสุข สาขาเกษตร สาขาอุตสาหกรรม และสาขาพลังงาน เป็นต้น
      2) การร่วมมือเพื่อการพัฒนากับประเทศเพื่อนบ้านบริเวณชายแดนไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน จะนำรูปแบบการพัฒนาโครงการเชื่อมโยงคมนาคมระหว่างไทย-เมียนมาร์ จากเมียวดี-เชิงเขาตะนาวศรี ซึ่งพัฒนาโครงข่ายถนน เพื่อเชื่อมโยงการคมนาคมขนส่งระหว่างกัน (Connectivity) มาเป็นแนวทางในการพัฒนาพื้นที่บริเวณชายแดนระหว่างประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อพัฒนาเป็นประตูการค้า (Gateway) สนับสนุนและส่งเสริมให้มีการขยายตัวทางด้านการค้า การลงทุน การท่องเที่ยว วัฒนธรรม และประเพณีระหว่างกัน ซึ่งประชาชนที่อยู่บริเวณชายแดนจะได้รับประโยชน์จากโครงการดังกล่าว เช่น การพัฒนาบริเวณด่านสิงขร/มอต่อง-มะริด ด่านบ้านพุน้ำร้อน/บ้านแม่ทะมี่-ทวาย และด่านเจดีย์สามองค์/พญาตองซู-ทันบูไซยัด เป็นต้น
        3) การร่วมมือเพื่อการพัฒนาโดยการให้ความช่วยเหลือทางการเงินและทางวิชาการแก่ประเทศเพื่อนบ้านของประเทศไทย โดย สพพ. เป็นโอกาสหนึ่งที่สินค้าและบริการจากประเทศไทยสามารถกระจายไปสู่ประเทศเพื่อนบ้าน และเป็นการขยายกำลังการผลิตของประเทศไทยอีกทางหนึ่ง ดังนั้น จึงสมควรให้หน่วยงานต่างๆ ให้การสนับสนุนผู้ประกอบการไทยได้รับความสะดวกและรวดเร็วในพิธีการทางด้านการค้าระหว่างประเทศและการขนส่งสินค้า             ข้ามแดน

แต่งตั้ง
12.  เรื่อง แต่งตั้ง
        1. แต่งตั้งข้าราชการ (สำนักนายกรัฐมนตรี)
        คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติแต่งตั้ง นางสาวอัจฉรา โกศัลวัฒน์ ที่ปรึกษาระบบราชการ (นักทรัพยากรบุคคลเชี่ยวชาญ) สำนักงาน ก.พ. ให้ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษาระบบราชการ (นักทรัพยากรบุคคลทรงคุณวุฒิ) สำนักงาน ก.พ. สำนักนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่วันที่ 22 พฤศจิกายน 2555 ซึ่งเป็นวันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์ ตามที่สำนักงาน ก.พ. เสนอ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นต้นไป

        2. รัฐบาลสหภาพคอโมโรสเสนอขอแต่งตั้งเอกอัครราชทูตประจำประเทศไทย
        คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่ได้รับรายงานจากสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง
สาธารณรัฐประชาชนจีน ว่ารัฐบาลสหภาพคอโมโรสมีความประสงค์ขอแต่งตั้ง นายมะฮ์มูด มุฮัมมัด อะบูด           (Mr. Mahmoud Mohamed Aboud) ให้ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มแห่งสหภาพคอโมโรส ประจำประเทศไทยคนแรก โดยมีถิ่นพำนัก ณ กรุงปักกิ่ง ตามที่กระทรวงการต่างประเทศเสนอ

3.    แต่งตั้งข้าราชการ (กระทรวงศึกษาธิการ)
        คณะรัฐมนตรีมีมติแต่งตั้ง นายสุรพล รัตนไชย  นักวิชาการศึกษาเชี่ยวชาญ สำนักงานศึกษาธิการภาค 11 สำนักงานปลัดกระทรวง ให้ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษาด้านระบบบริหารจัดการศึกษา (นักวิชาการศึกษาทรงคุณวุฒิ)  สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงศึกษาธิการ ตั้งแต่วันที่ 27 พฤศจิกายน 2555 ซึ่งเป็นวันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์  ตามที่กระทรวงศึกษาธิการเสนอ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง      เป็นต้นไป

4.    แต่งตั้งอนุกรรมการเพิ่มเติมภายใต้คณะกรรมการประสานงานร่วมระหว่างไทย-เมียนมาร์เพื่อการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายและพื้นที่โครงการที่เกี่ยวข้อง
        คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติให้เพิ่มเติมองค์ประกอบในคณะอนุกรรมการร่วมไทย-เมียนมาร์ ฝ่ายไทย (1) สาขาโครงสร้างพื้นฐานและการก่อสร้าง (2) สาขาอุตสาหกรรมเฉพาะด้านและการพัฒนาธุรกิจ (3) สาขากฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง และ (4) สาขาการเงิน ตามที่รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล) เสนอ ดังนี้
        1. คณะอนุกรรมการร่วมฯ ฝ่ายไทย สาขาโครงสร้างพื้นฐานและการก่อสร้างให้เพิ่ม
            1.1 นายจุลพงศ์ อยู่เกษ ที่ปรึกษากฎหมายผู้ทรงคุณวุฒิของประธานที่ปรึกษานโยบายนายกรัฐมนตรี
            1.2 ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
            1.3 ผู้แทนการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
        2. คณะอนุกรรมการร่วมฯ ฝ่ายไทย สาขาอุตสาหกรรมเฉพาะด้านและการพัฒนาธุรกิจ ให้เพิ่มผู้แทนกระทรวงพาณิชย์
        3. คณะอนุกรรมการร่วมฯ ฝ่ายไทย สาขากฎระเบียบที่เกี่ยวข้องให้เพิ่มนายจุลพงศ์ อยู่เกษ
ที่ปรึกษากฎหมายผู้ทรงคุณวุฒิของประธานที่ปรึกษานโยบายนายกรัฐมนตรี
        4. คณะอนุกรรมการร่วมฯ ฝ่ายไทย สาขาการเงิน ให้เพิ่ม
            4.1 ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย
            4.2 เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

5.    คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 49/2556 เรื่อง มอบหมายให้รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีปฏิบัติหน้าที่กรรมการในคณะกรรมการตามกฎหมาย
        คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 49/2556 เรื่อง มอบหมายให้รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีปฏิบัติหน้าที่กรรมการในคณะกรรมการตามกฎหมาย ดังนี้
         ตามที่สำนักนายกรัฐมนตรีได้มีคำสั่งที่ 269/2555 ลงวันที่ 2 พฤศจิกายน 2555 มอบหมายและมอบอำนาจให้รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีปฏิบัติหน้าที่ประธานกรรมการในคณะกรรมการต่าง ๆ ตามกฎหมาย และระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี นั้น
        อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 10 และมาตรา 15 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2545 มาตรา 11 และมาตรา 12 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 และมาตรา 38 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2550 ประกอบกับพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการมอบอำนาจ พ.ศ. 2550 นายกรัฐมนตรีจึงมีคำสั่งมอบหมายให้รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นายวราเทพ รัตนากร) ปฏิบัติหน้าที่กรรมการในคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด
        ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2556 เป็นต้นไป
       
6.    แต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการบริหารสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ
        คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการบริหารสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) จำนวน 3 คน ตามที่กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเสนอ ดังนี้ 1. นายชุมพร พลรักษ์ เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 2. นายปกรณ์ อาภาพันธุ์ เป็นกรรมการผู้ทรง คุณวุฒิ 3. นายชนิตร ชาญชัยณรงค์ เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2556 เป็นต้นไป

7.    แต่งตั้งรองประธานกรรมการและกรรมการอื่นในคณะกรรมการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร
        คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติแต่งตั้งรองประธานกรรมการและกรรมการอื่นในคณะกรรมการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) แทนกรรมการเดิมที่จะครบวาระ ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ดังนี้ นายชวลิต ชูขจร ผู้แทนกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นรองประธานกรรมการ โดยกรรมการประกอบด้วย นายมนัส แจ่มเวหา ผู้แทนกระทรวงการคลัง นายสมชาย ชาญณรงค์กุล ผู้แทนกรมส่งเสริมสหกรณ์ นายวีระชัย นาควิบูลย์วงศ์ ผู้แทนสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม นางฤชุกร สิริโยธิน ผู้แทนธนาคารแห่งประเทศไทย นายประยูร   รัตนเมธางกูร ผู้แทนสหกรณ์การเกษตรผู้ถือหุ้น นายสมหมาย กู้ทรัพย์ นายธนรัชต์ วิเชียรรัตน์ นายวีรพล ปานะบุตร นายวศิน ธีรเวชญาณ นายวิรัติ ศักดิ์จิรพาพงษ์ นายทวีป ตันพิพัฒนกุล นายยรรยง พวงราช ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2556 เป็นต้นไป สำหรับนายวีรพล ปานะบุตร อธิบดีอัยการ สำนักงานคดีศาลปกครอง สำนักงานอัยการสูงสุด ให้มีผลตั้งแต่วันที่ได้รับอนุมัติ จาก ก.อ. เป็นต้นไป เพื่อให้เป็นไปตามนัยมาตรา 67 (5) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการ พ.ศ. 2553



***************************














Comments