รายการรัฐบาลยิ่งลักษณ์พบประชาชน



รัฐบาลเชิญชวนประชาชนร่วมงานนิทรรศการไทยแลนด์ 2020 ก้าวใหม่เชื่อมไทยสู่โลก พร้อมรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน

วันนี้ (9 มีนาคม 2556) เวลา 08.00 น. นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวในรายการรัฐบาลยิ่งลักษณ์พบประชาชน ผ่านสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย และสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย กรมประชาสัมพันธ์

ช่วงที่ 1

พิธีกร (นายธีรัตถ์ รัตนเสวี) : สวัสดีครับ ตอนนี้ผมอยู่กับนายกฯยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่จัตุรัสกองทัพ ประเทศเบลเยี่ยม ท่านนายกฯ สวัสดีครับ

นายกรัฐมนตรี : สวัสดีค่ะ


พิธีกร : ทำไมท่านนายกรัฐมนตรีตัดสินใจเดินทางเยือนสวีเดน และเบลเยียม

นายกรัฐมนตรี  : จริง ๆ แล้วก็ต้องบอกว่าถ้าคุยทีละประเทศจริง ๆ แล้วสวีเดนก็เป็นประเทศที่ใหญ่ และก็มีความสำคัญทางเศรษฐกิจด้วย  สวีเดนก็เป็นประตูสู่ยุโรปเหนือ แล้วเราคิดว่าในส่วนนี้ การค้าขายกับสวีเดนก็ควรจะมีการเพิ่มปริมาณการค้าขายที่นี่ด้วย และสวีเดนเอง เทคโนโลยีทางด้านพลังงานทดแทน และเทคโนโลยีต่าง ๆ เช่น นาโนเทคโนโลยีต่าง ๆ มีมากที่เราน่าจะทำการแลกเปลี่ยนกันเชิงวิชาการด้วย

พิธีกร : ถ้าเราดูแล้ว ประเทศสวีเดนเป็นประเทศที่ไม่ใหญ่มาก แต่ว่าเขาให้ความสำคัญกับประเทศไทยมาก มีนักธุรกิจของสวีเดนไปลงทุนในประเทศไทยสูง มีความสัมพันธ์กันมาเป็น 100 ปีเลยทีเดียว

นายกรัฐมนตรี : ทั้งสองที่เลยค่ะ ทั้งด้านสวีเดน และก็เบลเยี่ยมด้วย มีความสัมพันธ์กับประเทศไทยมา 100 กว่าปีแล้ว อันนี้ก็ถือเป็นการตอกย้ำความสำคัญและโดยเฉพาะในช่วงนี้เรื่องของเศรษฐกิจต่าง ๆ ที่มีภาวะเศรษฐกิจเปลี่ยนแปลง นี่ถ้าเราตรงนี้ ก็จะเหมือนกับว่ามาตอกย้ำความสัมพันธ์แล้วก็มาให้ความเชื่อมั่นว่าประเทศไทยเรายังมีความเชื่อมั่นทั้งในสวีเดน เบลเยียม และก็ EU เองก็เป็นโอกาสดีเรียกว่าซื้อใจกันด้วย เบลเยี่ยมเองจริงๆ ไม่ใช่เป็นประเทศที่ใหญ่ แต่ว่ามีความสำคัญมีท่าเรือใหญ่ แล้วก็นอกจากนั้นเองก็เป็นที่ตั้งของ EU ซึ่งเรียกว่าเป็น 3 สถาบันหลักที่มีผลทางข้อกฎหมายต่างๆ และก็มีผลทางด้านการค้าการลงทุนกับเรามากเลยทีเดียว เลยคิดว่าทั้ง 2 ประเทศนี่มีความสำคัญที่น่าจะไป

พิธีกร : ถ้างั้นเรากลับไปที่สวีเดนกันก่อน สวีเดนมองประเทศไทยเป็นประตูสู่อาเซียนได้หรือไม่ เพราะว่าที่เราอยู่ในศูนย์กลางของการเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนอีกไม่กี่ปีต่อจากนี้ไป

นายกรัฐมนตรี : ใช่ค่ะ เพราะว่าสิ่งนี้ที่เราเข้ามานำเสนอว่าเศรษฐกิจประเทศไทยเราพร้อมแล้วที่จะตอบรับนักลงทุน นักท่องเที่ยว และขณะเดียวกันเราก็เป็นศูนย์กลางในประตูสู่อาเซียน เป็นส่วนสำคัญที่บางครั้งความเข้าใจทั้งสองประเทศไม่เพียงพอ เราก็มีโอกาสได้นำนักธุรกิจของเราไปพบกับนักธุรกิจของเขาด้วยหลาย ๆ ที่อย่างเช่นสวีเดนเองจริงๆ มีการลงทุนเทคโนโลยีทางด้านของพลังงานสะอาดมาก แต่ลงทุนในประเทศยังไม่มีออกไปทำต่างประเทศมากเท่าไหร่ อันนี้ก็ได้ข้อมูลจากทางด้านภาคธุรกิจ ซึ่งโอกาสตรงนี้ได้มาคุยกัน อาจจะทำให้เขาสนใจที่จะมาลงทุนในประเทศไทยมากขึ้น

พิธีกร : ก็คือได้เรียนรู้ด้วย เห็นว่าในเรื่องของพลังงานสะอาด เอทานอล อย่างบ้านเราเป็นประเทศการเกษตร ถ้าสามารถที่จะผลักดันให้มีการนำพืชพลังงานมาใช้มากขึ้น ความมั่นคงทางพลังงานของเราก็จะมีมากขึ้น เห็นว่าสวีเดนมีการวางแผนเรื่องการลดพลังงานจากฟอสซิลลงอย่างมาก และหันมาใช้พลังงานสะอาดมากขึ้น ซึ่งถ้าเรามีความร่วมมือกันอย่างใกล้ชิด การแลกเปลี่ยนความรู้ก็จะเกิดขึ้นอย่างมาก

นายกรัฐมนตรี : ครั้งนี้ก็ได้นำสถาบันวิจัยมาด้วย ทั้งทางด้านของงานวิจัยของหน่วยงานภาครัฐ ทั้ง 3 สถาบัน มาด้วย และได้มีการพูดคุยกันในการแลกเปลี่ยนเชิงวิชาการ เพราะว่าโจทย์นี้เป็นโจทย์ที่สำคัญทีเดียว บางครั้งเราเองเราอยากจะสนับสนุนทางด้านพลังงานทดแทน แต่บางงานวิจัยต่าง ๆ ที่เราต้องใช้ต้องนำมานี่ก็เป็นโจทย์หนึ่งที่เรามาขอความร่วมมือ และเรื่องของนาโนเทคโนโลยี ที่สวีเดนเป็นประเทศที่ให้ความสำคัญกับพลังงานสะอาด ก็มีโอกาสได้ไปเมือง ๆ หนึ่งเป็นเมืองอุตสาหกรรม แล้วเปลี่ยนจากอุตสาหกรรมที่เรียกว่ามีปัญหาเรื่องมลพิษทางน้ำต่าง ๆ มาเป็นเมืองสะอาดไปแล้ว และกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยว เรียกว่า เมืองซิมไบโอซิตี้


พิธีกร : ซึ่งเท่ากับว่าการให้คนอยู่ร่วมกับอุตสาหกรรม อยู่ร่วมกับสิ่งแวดล้อมได้เป็นต้นแบบที่ดีจากสวีเดน ซึ่งเราอาจจะนำไปใช้ในการจัดการของประเทศไทยก็เป็นได้

นายกรัฐมนตรี : เล่าคอนเซ็ปของเมือง เขาบอกว่าซิมไบโอซิตี้ แปลว่า พาร์ทเนอร์ชิพ คือการมีส่วนร่วม หลักเขาก็คือว่าเมืองนี้เป็นเมืองที่มีปัญหาทางด้านอุตสาหกรรม ฉะนั้นภาครัฐก็เข้าไปวางแผนทางด้านที่เรียกว่าจัดผังเมืองใหม่ให้สอดคล้องกับเรื่องของพลังงานสะอาด และมีการพูดคุยกันในการปรับพฤติกรรมของคน เช่น ขยะเสร็จแล้วก็ไปแยกขยะแล้วทิ้งมีท่อส่งไป แล้วเปลี่ยนในเรื่องของการรีไซเคิ้ลต่าง ๆ ซึ่งในเมืองนี้มีการใช้รีไซเคิ้ลถึง 99% สูงมากไปเปลี่ยนเป็นพลังงาน รถก็ใช้เป็นประเภทพลังงานสะอาดทั้งหมด ก็ดูแล้วเป็นสิ่งที่ดีแล้วเราก็มองว่าเป็นไปได้ไหมวันไหนเรามีโอกาสจะไปพัฒนาสักส่วนหนึ่ง เมืองหนึ่งของประเทศไทยว่าเรามีที่ไหนบ้างที่จะไปปรับปรุงโมเดลแบบนี้

พิธีกร : อย่างเช่นที่รัฐมนตรี ชัชชาติฯ พูดถึงว่าอาจจะมีการสร้างกรีนซีตี้ขึ้นมา แบบนี้อาจจะเป็นต้นแบบเหมือนกันในการสร้างเมืองใหม่ในประเทศไทยก็เป็นได้

นายกรัฐมนตรี : ใช่ค่ะ

พิธีกร : นอกจากนี้ ชาวสวีเดนให้ความสำคัญกับการเดินทางมาท่องเที่ยวที่ประเทศไทย

นายกรัฐมนตรี : ใช่ค่ะ ก็ถือว่าเป็นสถานที่ที่เขาชอบมาด้วย ติดอันดับต้น ๆ ซึ่งเราเองยังติดปัญหาหลายเรื่องจริง ๆ แล้วเรื่องการท่องเที่ยวสวีเดนมาเที่ยวประเทศไทยประมาณ 350,000 คนแล้ว แล้วก็คนไทยไปอยู่ที่สวีเดน 30,000 คน สิ่งที่เราต้องการเสนอเพิ่มเติมก็คือว่า วันนี้แนวโน้มของผู้สูงอายุของสวีเดนก็มาท่องเที่ยวบวกกับมารักษาก็คือว่าวันนี้ทางสวีเดนเองเขามีปัญหาเรื่องของค่าใช้จ่ายเรื่องของสาธารณสุขการแพทย์สูงขึ้นก็คงจะมองหาในส่วนของประเทศอื่นบ้าง ซึ่งจริง ๆ แล้วไทยก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่เรามีเทคโนโลยีทางด้านแพทย์ พยาบาล ต่าง ๆ ในการรักษาซึ่งก็เป็นราคาที่จะสามารถแข่งขันได้ แต่ก็อาจจะติดปัญหาหลายอย่างในเรื่องของกฎระเบียบ ซึ่งตามหลักไม่ใช่เป็นงานของรัฐบาล แต่ที่นี่เขาเป็นของท้องถิ่น รัฐบาลท้องถิ่นซึ่งตรงนี้เราเองก็ได้ขอทางด้านท่านนายกรัฐมนตรีช่วยเราในการที่จะประสานไปหาผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อที่จะช่วยส่งเสริมให้มีเรียกว่ามีสวัสดิการต่าง ๆ ให้ผู้คนของสวีเดนมารักษาที่ประเทศไทย

พิธีกร : และที่สำคัญคือไทยกับสวีเดนมีการเปิดน่านฟ้าระหว่างกันมา 25 ปี แล้วด้วยกัน

นายกรัฐมนตรี : ใช่คะ ก็มีการเรียกว่ามีการเพิ่มเที่ยวบินระหว่างกันมากขึ้น และก็มีไฟท์บินตรงไปที่ภูเก็ต

พิธีกร : คือคนสวีเดนไปพักผ่อนที่ประเทศไทยมากเหลือเกินครับ

นายกรัฐมนตรี : ใช่คะ

พิธีกร : ท่านนายกฯ มีโอกาสได้เข้าเฝ้าสมเด็จพระราชาธิบดี และพระราชินี ในเวลาเดียวกันด้วย

นายกรัฐมนตรี : ใช่คะ ก็ถือว่าเป็นพระมหากรุณาธิคุณค่ะ ที่สมเด็จพระราชาธิบดี และพระราชินีท่านได้ให้ดิฉันเข้าเฝ้าถือว่าเป็นพระกรุณาธิคุณ

พิธีกร : การเดินทางมาเยือนยุโรปครั้งนี้เรื่องของการเจรจาการค้า FTA กับยุโรปมีความสำคัญมากเพราะในเวลาไม่ช้าเรื่องของสิทธิพิเศษ เรื่องของ GSP จะหมดไป ตรงนี้จะช่วยเรื่องผู้ประกอบการคนไทยอย่างไรบ้างครับ

นายกรัฐมนตรี : คือในเรื่องเมื่อก่อนเราได้สิทธิพิเศษคือ GSP เพราะว่าเราอาจจะมีรายได้ในเรื่องถัวเฉลี่ยของประชากรไม่สูงมาก และก็เราได้สิทธิพิเศษทางภาษี คราวนี้มารายได้เราดีขึ้น เขาก็จะเริ่มลดสิทธิพิเศษนี้ของ GSP เราถึงต้องเอาสิทธิพิเศษนี้ไปต่อรองในตัว FTA ด้วย ซึ่งล่าสุดก็คือทางด้านของรัฐสภาก็ได้เห็นชอบให้เลิกขบวนการเจรจาซึ่งเราก็ได้มีการประกาศทาง EU (สหภาพยุโรป) ในกระบวนการเจรจาทางด้านเจรจาซึ่งถ้าเจรจาข้อดีของผู้ที่ขาย โดยเฉพาะสินค้ากลุ่มต่าง ๆ หลายประเภทไม่ว่าจะเป็นสินค้าทางการเกษตร หรือว่าสินค้าทางด้านอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ต่าง ๆ หลาย ๆ ประเภท ทั้งหมดมี 14 รายการ 14 หมวด ก็จะได้ประโยชน์ตรงที่ว่าสิทธิที่เราเคยได้ก็จะมาต่อรองอย่างน้อยรวมถึงตลาดที่เราจะส่งออกไปทาง EU จะมีมากขึ้น ประโยชน์ของประชาชน นอกจากจะได้ซื้อในราคาพิเศษสิทธิทางภาษีระหว่างกันแล้วก็มีโอกาสเลือกมากขึ้นที่จะมีทางกลุ่ม EU หรือทางยุโรปเข้ามาขายในเมืองไทยมากขึ้น

พิธีกร : ราคาถูกลงมาจากเดิมด้วย อันนี้อยู่ระหว่างการเจรจา

นายกรัฐมนตรี : คงประมาณากลางปีนี้ที่จะเริ่มเจรจาก็คิดว่าอยู่ระหว่าง 1-2 ปีถึงจะจบ

พิธีกร : ขณะเดียวกัน ครั้งนี้ถือว่าเป็นครั้งแรกที่ทางยุโรปให้การรับรองข้าวหอมมะลิ Gi

นายกรัฐมนตรี : GI คือเรียกว่าต้นทางของข้าวมาจากประเทศไหน ซึ่งข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ ซึ่งได้รับการรับรองเรียบร้อยแล้ว แล้วเราก็มีการติดตามขอจด GI อีก 2 รายการก็คือ รายการของกาแฟดอยช้างและดอยตุง

พิธีกร : แสดงว่าทางยุโรปให้ความสำคัญต้นกำเนิดของสินค้ารวมถึงสินค้าที่เป็นออแกนิคด้วย

นายกรัฐมนตรี : ใช่คะ สินค้าออแกนิค และด้วยสินค้าเกษตรอินทรี ซึ่งตรงนี้เราเห็นตลาดมีมาก จะมีองค์กรที่เรียกว่าแฟร์เทรดที่จะมาช่วยในการที่จะมาดูตั้งแต่คุณภาพและก็ผลิตภัณฑ์และการตลาดอันนี้เราก็มีโอกาสได้นำสินค้าเหล่านี้มาเข้าอยู่ในกลุ่มแฟร์เทรดด้วย ทำให้โอกาสของสินค้าเชิงเกษตรอินทรีย์มีโอกาสได้มาขายในต่างประเทศ ที่สำคัญสินค้ากลุ่มนี้เป็นสินค้าที่สร้างมูลค่าเพิ่มและราคาสูง

พิธีกร : และเป็นธรรมกับเกษตรกรด้วย

นายกรัฐมนตรี : ใช่ค่ะ เป็นธรรมกับเกษตรกร

พิธีกร : ขณะเดียวกัน ถ้าเรามองที่เราเดินทางมาคณะใหญ่เหมือนกัน มาที่ยุโรปครั้งนี้ได้เห็นศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจไทยมากน้อยแคไหน ยุโรปได้แสดงความสนใจต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทยอย่างไรบ้าง

นายกรัฐมนตรี : อันหนึ่งที่จะต้องเรียนคุณธีระว่า เราก็ดีใจนะคะว่า วันนี้มีการตอบรับจากประเทศยุโรป เขาก็ชื่นชมว่าประเทศไทยเรามีความรักสามัคคีรวมพลังกันในการต่อสู้กับวิกฤติภัยน้ำท่วม จนวันนี้เศรษฐกิจไทยกลับมาปีล่าสุดกลับมาที่ร้อยละ 4.6% ถือว่าเป็นตัวเลขที่ให้ความมั่นใจกับประเทศในกลุ่มยุโรปมาก เขาก็เห็นพัฒนาการที่ดีของประเทศไทยนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งที่เป็นการตอกย้ำความสำคัญ ก็จะมีประมาณช่วงวันที่ 17-22 ดิฉันเองก็ได้มีโอกาสเข้าเฝ้ามงกุฎราชกุมารของเบลเยี่ยม ท่านก็เสด็จไปที่เมืองไทยพร้อมกับนำนักธุรกิจของเบลเยียมมาเมืองไทยด้วยค่ะประมาณ 150 บริษัท

พิธีกร : ก็คือว่าเป็นการเปิดความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับเบลเยียมก่อนที่เจ้าฟ้าชาย ฟิลลิปป์ จะเดินทางมาประเทศไทยอีก 2 สัปดาห์

นายกรัฐมนตรี : ซึ่งเราเชิญไป 60 เขาก็จะมา 150 ก็ดีค่ะ จะได้มีการต่อยอดเรื่องความสัมพันธ์โอกาสที่ภาคเอกชนจะได้มีการเพิ่มการค้าการลงทุนมากขึ้น ดิฉันว่าเป็นสิ่งที่ดีแลเป็นโอกาสที่เราได้มีการทำกิจกรรมร่วมกันบ่อยมากยิ่งขึ้น

พิธีกร : พูดถึงการท่องเที่ยวระหว่างกันเห็นว่ามีการพยายามพูดคุยกันเรื่องของ วีซ่าเชนเก้น

นายกรัฐมนตรี : ใช่ค่ะ

พิธีกร : เป็นยังไงครับตรงนี้

นายกรัฐมนตรี : วันนี้ เราเองยังต้องไปลงตราของเชนเก้นวีซ่า ซึ่งเราก็อาจทำให้ขั้นตอนการเดินทางใช้เวลา ก็พยายามที่จะขอทางด้านของสหภาพยุโรปในส่วนนี้ว่าได้หรือไม่ให้ยกประเทศไทยไม่ต้องลงตราเรื่องของเชนเก้นวีซ่าบ้างได้หรือไม่ อันนี้เป็นสิ่งที่เราขอ ซึ่งในขั้นตอนก็คงต้องใช้เวลา เพราะว่าเขาต้องไปพูดกันในสภาฯด้วย อย่างน้อยเราก็ได้เดินหน้าในการที่จะบอก เผื่อว่าหากมีกระบวนการนี้ได้ เราก็จะเป็นประโยชน์กับนักท่องเที่ยว

พิธีกร : ขณะเดียวกัน ถ้ายุโรปเขามองมาไทยในฐานะที่เรา ท่านนายกฯจะเดินหน้าเปลี่ยนโหมดยุทธศาสตร์ 2 ล้านล้าน ของบ้านเรา เขาให้ความสำคัญกับการเข้ามาร่วมลงทุนหรือว่ามาเติบโตพร้อมกับเศรษฐกิจไทยมากน้อยแค่ไหนครับ

นายกรัฐมนตรี : อันนี้ก็ต้องเรียนว่าด้วยความที่ยุโรปเองเริ่มมั่นใจในประเทศไทย มาจากสัญญาณที่พี่น้องประชาชนจะเห็นจากนักท่องเที่ยวที่เข้ามา ซึ่งวันนี้ก็มีกลุ่มยุโรป เรียกว่าเป็นกลุ่มที่มีคุณภาพสูง แล้วก็ต่อด้วยการที่เริ่มมีนักลงทุนเข้ามานั่นคือความมั่นใจ สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ได้สานต่อว่านอกจากการลงทุนในประเทศไทยแล้ว ประเทศไทยเรามีแผนการลงทุน 2 ล้านล้านบาท ซึ่งก็จะเชื่อมต่อไปกลุ่มอาเซียน เขาก็จะมองบทบาทประเทศไทยในสองบทบาทคือการลงทุนของประเทศไทย แล้วก็การใช้ประเทศไทยเป็นฐานการลงทุนอาเซียน ซึ่งตรงนี้ทางยุโรปก็เห็นความสำคัญแล้ว ทางด้านของรัฐบาล แล้วก็ทางกลุ่มของ EU เองก็ต้องการที่จะมาร่วม หรือมีกิจกรรม หรือมีการสนับสนุนเพิ่มในส่วนของภูมิภาคอาเซียนกับทางยุโรป

พิธีกร : แสดงว่าถ้าเรามีการลงทุนครั้งใหญ่ จริง ๆ ก็อาจจะเห็นหน้าตาของนักลงทุนยุโรปบางส่วนไปมีส่วนร่วมกับการลงทุนครั้งใหญ่เช่นกันด้วย

นายกรัฐมนตรี : เช่นกันค่ะ

พิธีกร : ซึ่งเขามองกันว่าถ้าประเทศไทยมีโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่เข้มแข็งนี้ จะช่วยการเติบโตของเรา เติบโตได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนต่อไปด้วยไหมครับ

นายกรัฐมนตรี : ใช่ค่ะ คนที่จะลงทุนเขาต้องมองพื้นฐานว่าโครงสร้างนี้อยู่ระยะยาว แล้วที่สำคัญ โครงสร้างนี้จะช่วยลดต้นทุนเขาในระยะยาว อันนี้ก็เป็นจุดสำคัญที่เราได้มีโอกาสตอกย้ำกับนักลงทุนไปซึ่งก็ถือว่าการลงทุนนี้ได้รับการตอบรับจากกลุ่ม EU และจากกลุ่มทางยุโรปเป็นอย่างมาก

พิธีกร : มาพูดถึง EU ท่านนายกฯได้พูดไปในตอนต้นว่า ท่านได้พบกับ 3 เสาหลักของ EU เป็นนายกฯของไทยคนแรกที่พบกับ 3 เสาหลักของ EU ในวันเดียวกันเลย

นายกรัฐมนตรี : ใช่ค่ะ ก็ถือว่าเขาให้ความสำคัญกับเรา แล้วดิฉันเองก็ถือว่าเราได้รับโอกาส ประเทศไทยได้รับโอกาส ที่ได้พบทั้ง 3 เสาหลัก เพราะว่าแต่ละเสาหลักมีความสำคัญต่างกันในแต่ละบทบาท ซึ่งจริง ๆ แล้วต้องพูดในเนื้อหาเดียวกันเพื่อให้เกิดพลังในการที่จะผลักดันกลไกต่าง ๆ ที่จะให้ความช่วยเหลือ แล้วก็เจตนารมย์ที่เรามีการประกาศความร่วมมือเช่นเรื่อง FTA ก็ดี เรื่องความสมัครใจทางด้านของสิทธิ เรื่องของป่าไม้ เรื่องของดอกไม้ และไม้สด ก็มีส่วนสำคัญ แล้วก็เรื่องของความร่วมมืออย่างรอบด้าน อันนี้ก็เป็นอีกเจตนารมย์ที่เราได้มีการประกาศที่เรียกว่า PCA อันนี้ก็เป็นเจตนารมย์ที่เขาเคยมีข้อตกลงนี้นาน 8 ปีแล้ว แล้วเรามาทำสำเร็จในครั้งนี้ ในปีนี้ที่รัฐสภาก็จะได้มีการตกลงเสร็จแล้ว เราก็คงจะนำเสนอทางรัฐสภาเพื่อเห็นชอบ ซึ่งอันนี้ก็เป็นความคืบหน้าที่เขาก็ค่อนข้างมีความมั่นใจกับความร่วมมือของประเทศ

พิธีกร : ดังนั้น ก็เท่ากับว่าการที่ท่านนายกฯ ได้มาครั้งนี้เป็นการตอกย้ำความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นคือไม่ใช่เป็นเพียงแค่ประเทศสวีเดนหรือประเทศเบลเยี่ยม แต่ว่านี่คือ EU ที่ตั้งอยู่ในประเทศเบลเยี่ยม ที่กรุงบรัสเซลตรงนี้เอง เพราะฉะนั้นความสัมพันธ์ไม่ใช่แค่ 2 ประเทศ แต่คือ 10 กว่าประเทศที่อยู่กลุ่มสหภาพยุโรปด้วยกันจะสามารถเดินหน้าในหลากหลายมิติ คือทุกมิติที่จะเกิดขึ้นทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม พลังงานต่าง ๆ อันนี้คือเกิดขึ้นจากการที่มีภาครัฐเดินหน้ามา แล้วจะเป็นการปูทางให้เอกชนเดินหน้าต่อไปด้วย

นายกรัฐมนตรี : วันนี้เขาก็จะให้ความร่วมมือทางวิชาการเราเพิ่มขึ้นด้วยไม่ว่าจะเป็นความร่วมมือทางภัยพิบัติ

นายกรัฐมนตรี : เราก็ได้มีการตกลงในการที่จะหาผู้ที่รับผิดชอบในการพูดคุยกันได้รับความร่วมมือนี้ด้วย

พิธีกร : ขณะเดียวกัน การเดินทางมาครั้งนี้ได้มีการพานักธุรกิจไทยมาเจอนักธุรกิจของทั้ง 2 ประเทศด้วย การต่อยอดของภาคธุรกิจเป็นอย่างไรบ้าง

นายกรัฐมนตรี : เป็นการตอบรับที่ดี เพราะว่าที่เราได้ฟังก็คือว่า ข้อแรก เราได้มีโอกาสใกล้ชิดกับภาคธุรกิจ และรับฟังปัญหาของแต่ละประเทศของภาคธุรกิจอย่างแท้จริง ฉะนั้นพอเราฟังปัญหา เราก็จะเอาไปพูดคุยกับในวงหารือระดับสูงขึ้นมาได้ และมีการติดตามอย่างเป็นระบบ อันนี้ก็เป็นส่วนที่ช่วยได้ เพราะว่าจริง ๆ แล้ว ภาคเอกชน นอกจากรัฐจะแนะนำ เรียกว่าหา partner หรือหาคู่ค้าเพราะว่ากว่าจะหาเองได้ก็จะใช้เวลา เพราะฉะนั้น ภาครัฐต่อภาครัฐก็จะแนะนำเอกชนด้วยกันและความสมัครใจจะตกลงค้าขายหรือลงทุน อันนี้ก็แล้วแต่ความสมัครใจ แต่ที่สำคัญเราได้เข้าใจปัญหาจริง เราได้มีส่วนร่วมช่วยคิดและช่วยในการแก้ไข

พิธีกร : ผมเห็นบทบาทของกระทรวงพาณิชย์ บีโอไอพยายามอย่างเต็มที่ในการที่จะทำเป็น Business Matching คือทั้งนักธุรกิจไทยและนักธุรกิจของแต่ละประเทศมาเจอกัน ดูเหมือนว่านักธุรกิจของแต่ละประเทศให้ความสนใจกับการมาพูดคุยกับนักธุรกิจไทย ซึ่งแน่นอนว่าความสัมพันธ์ของระดับเอกชนน่าจะเติบโตขึ้นจากการที่รัฐบาลได้มีการรบุกเบิกไว้ให้ก่อนแล้วด้วย

นายกรัฐมนตรี : เรียนว่าใช่เพราะว่าจากที่ผ่านมา 1 ปีกว่า ๆ  จะเห็นว่าตัวเลขที่มีนักลงทุนมาขอก็สูงสุดเป็นประวัติการณ์แล้วก็สูงกว่ายอดเดิม ๆ ที่เคยได้รับ นั่นคือผลจากการที่เรา ภาครัฐเหมือนกับเป็นกลไกในการช่วยให้คู่ค้าทั้งคู่มาเจอกันเร็วขึ้น

พิธีกร : ขณะเดียวกัน ถ้าเรามองดูว่ายุโรปเป็นประเทศที่มีเทคโนโลยีมีการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์สูงมีการพูดคุยไหมครับว่าจะมีการแลกเปลี่ยนความรู้ แลกเปลี่ยนงานวิจัยซึ่งกันและกัน

นายกรัฐมนตรี : มีค่ะ เพราะว่าจริง ๆ แล้วที่ยุโรปเองเขาก็มีสถาบันวิจัยที่มีทุนสูงแล้วก็ประสบความสำเร็จ เราก็ได้มีการพูดคุย ทั้งนี้เราก็ได้เชิญ สกว.มาด้วย และยังมีหน่วยงานวิจัยอื่น ๆ แล้วก็ทางมหาวิทยาลัย เข้ามาเพื่อจะมีโอกาสได้มาสร้างความร่วมมือกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของทางวิทยาศาสตร์ การแพทย์ แล้วก็เรื่องของพลังงาน

พิธีกร : ซึ่งพลังงาน เราก็มีความพยายามที่จะลดการใช้พลังงานฟอสซิลลง ดังนั้นการที่เรามาครั้งนี้ เราได้ศึกษาจากประเทศที่เป็นต้นแบบ ก็อาจจะเป็นการเปลี่ยนโหมดอีกครั้งหนึ่ง คือท่านนายกรัฐมนตรีพยายามเรียกว่าชิปโหมดมาแล้วในแง่ของการใช้ราง ใช่หรือไม่ ถ้าเกิดเราเปลี่ยนโหมดจากการใช้พลังงานที่เป็นฟอสซิล มาเป็นพลังงานสะอาดมากขึ้น การเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ ก็เท่ากับว่ามีการเติบโตได้อย่างยั่งยืน ไม่ต้องพึ่งพาพลังงานจากต่างประเทศ มากจนเกินไป

นายกรัฐมนตรี : คือ ต้องเรียนว่า หนึ่ง เรามองว่าเราต้องพัฒนาเรื่องของการใช้พลังงานทดแทน เราเอาพลังงานเอาพวกขยะ หรือไม่ว่าจะเป็นพืชเกษตรมาเปลี่ยนเป็นพลังงาน สิ่งนี้นอกจากเราจะได้เศรษฐกิจใหม่ขึ้นแล้ว สร้างเศรษฐกิจใหม่แล้ว เราจะลดอัตราการนำเข้าก๊าซธรรมชาติที่เรานำเข้า อันนี้ก็คือ การที่เราเสียดุล ถ้าเราลดตรงนี้เราก็จะมาเสริมเศรษฐกิจในประเทศให้แข็งแรง ฉะนั้นตรงนี้ มีข้อดีทั้งขาเข้าและขาออกของเราเลย ถ้าสมมุติว่าเราทำได้ซึ่งวันนี้เองเราก็ถือว่าเป็นยุทธศาสตร์ประเทศที่เราอยากจะเห็นทางด้านของการสร้างเศรษฐกิจและการสร้างสังคมสีเขียวขึ้นมาควบคู่กับการพัฒนาเติบโตของเศรษฐกิจ เราเองก็หวังว่าการที่เรามาดูงานครั้งนี้จะได้เห็นภาพและก็ได้มีความร่วมมือเกิดขึ้นแล้วสุดท้ายก็จะมาเป็นการร่วมมือที่เกิดเป็นรูปธรรมที่จะทำให้ภาคเอกชนของเรานั้น ตื่นตัวแล้วก็กลไกต่าง ๆ ของรัฐที่เราได้เรียนรู้ก็คงจะต้องร่วมกัน ในการที่จะปรับแล้วก็ลดตรงนี้เพื่อสร้างความสมดุลในระยะยาว

พิธีกร : เพราะว่านี่คือบทบาทของรัฐบาลในการที่จะปรับยุทธศาสตร์ประเทศอย่างชัดเจนซึ่งระหว่างที่ดำเนินการออกอากาศขณะนี้ ก็มีการจัดงานนิทรรศการยุทธศาสตร์ 2 ล้านล้านบาท ที่ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะด้วย ท่านนายกฯอยากจะให้ประชาชนมาดู ดูแล้วได้อะไรกันบ้าง

นายกรัฐมนตรี : จริงต้องเชิญชวนพี่น้องประชาชน  เพราะว่าเราก็ยินดีรับฟังความคิดเห็น เพราะว่าอันนี้เป็นแผนการลงทุนของประเทศ เราเองก็จะมีการนำเอาภาพของทางด้านการลงทุน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของแผนการพัฒนา จากการที่ใช้ถนนมาเป็นรถไฟรางคู่ รถไฟความเร็วสูงจะเป็นอย่างไรแล้วทำให้ชีวิตของพี่น้องประชาชนสะดวกขึ้น รวดเร็วอย่างไร เราก็ต้องการที่จะรับฟังความคิดเห็น อยากเรียนเชิญพี่น้องประชาชนมาชมนิทรรศการนี้ให้มาก ๆ ที่เราเรียกว่าเป็นอนาคตของประเทศไทยไปถึงปี 2020

พิธีกร : คือว่าถ้าโครงการต่าง ๆ แล้วเสร็จ อีกประมาณ 7 ปีต่อจากนี้ โฉมหน้าประเทศไทยจะเปลี่ยนไป งานนี้มีไปจนถึงวันที่ 12 มีนาคม ที่ศูนย์ราชการ ตรงแจ้งวัฒนะ

นายกรัฐมนตรี : ใช่ค่ะ ก็เรียนเชิญพี่น้องประชาชนไปชมด้วย

พิธีกร : ครับ ช่วงนี้ขอขอบคุณ ท่านนายกรัฐมนตรีมากเลยนะครับ ท่านผู้ชมครับ เราจะพักกันสักครู่หนึ่งก่อน อีกสักครู่เราจะกลับไปที่ประเทศไทยจะไปดูกันว่างานเทศกาลที่เมื่อกี้ผมพูดคุยกันนั้น มีหน้าตาเป็นอย่างไรกันบ้างครับ


ช่วงที่ 2

พิธีกร : กลับสู่ช่วงที่ 2 ของรายการรัฐบาลยิ่งรักพบประชาชนกับผมธีรัตถ์ รัตนเสวี ตอนนี้ผมอยู่ที่ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ แจ้งวัฒนะ ซึ่งขณะนี้มีการจัดงานไทยแลน 2020 งานนี้ชื่อว่า ก้าวใหม่เชื่อมไทยสู่โลก งานนี้จัดขึ้นเพื่ออะไรมาสอบถามท่านรัฐมนตรีชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ท่านรัฐมนตรี สวัสดีครับผม

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม  (นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์) : สวัสดีครับ

พิธีกร : เรื่องของราง ท่านดูเรื่องของรางแน่นอน ผมเห็นว่ามีรถไฟความเร็วสูงอยู่ในงานไทยแลนด์ 2020 จัดขึ้นเพื่อเป็นการพูดถึงโครงสร้างพื้นฐานใช่หรือไม่

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม : ก็คือโครงการที่เราจะออก พรบ. ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาท วันนี้ก็จะเอารายละเอียดมาเล่าให้ประชาชนฟังว่าแนวคิดเป็นอย่างไร ทำไมถึงต้องทำโครงการนี้ ทำอย่างไร ทำอะไรบ้าง ทำแล้วพี่น้องประชาชนจะได้อะไร และก็จะมีรายละเอียดครับ เดี๋ยวจะพาไปให้ดูว่ามีอะไรบ้าง

พิธีกร : ก็แสดงว่า มางานนี้ได้รู้ทั้งหมดเลยว่าการลงทุนครั้งใหญ่ของประเทศที่บอกว่า 2020 ประมาณสัก 7 ปี ต่อจากนี้ไปไทยจะเห็นอะไร

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม : คือเป็นโครงการ 2 ล้านล้านบาท ต้องกราบเรียนเลยว่าเป็นโครงการที่ลงไปทุกภาคส่วน ทุกภูมิภาค ผมเชื่อว่าจะมีผลกับพี่น้องประชาชนแทบทุกคน ผมคิดว่าผมอยากให้ทุกคนมาช่วยกันดูและจะได้รู้ข้อมูลแล้วจะได้ช่วยกันติดตามตรวจสอบและก็มีข้อคิดเห็นอะไรพร้อมที่จะรับฟัง

พิธีกร : ที่สำคัญคือการทำให้ทุกอย่างง่ายมากขึ้นมีโดม 360 องศา ไปดูกันเลยหรือไม่

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม  : ไปดูกันเลย

พิธีกร : ก่อนที่เราจะเข้าไปในโดม ผมเห็นว่าตรงนี้มีการพูดถึงว่าโลกไปถึงไหนกันแล้ว นี่กำลังจะบอกว่ามันกำลังมีการพัฒนาในที่ต่าง ๆ ของโลก ถ้าเราไม่ทำอะไรโลกแซงเราแน่นอนเช่นอะไรบ้าง

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม : ตอนนี้โลกไปข้างหน้า แค่อยู่เฉย ๆ เราก็ถอยหลังแล้ว ดูอย่างจีนตอนนี้ต่อทางรถไฟเข้าไปถึงโปแลนด์แล้ว สินค้าจากจีนไปถึงได้โดยทางรถไฟแล้ว ลาวเองคุยกับทางจีนแล้วจะต่อรถไฟจากคุณหมิงลงมาที่เวียงจันทน์ รถไฟความเร็วสูง สิงคโปรกับมาเลเซียคุยกันแล้วว่าจะทำรถไฟความเร็วสูงเชื่อมถึงกัน 90 นาที เชื่อมเมืองหลวง รัสเซียก็เตรียมโรสต็อกเป็นศูนย์การขนส่งสินค้า มีรถไฟความเร็วสูง ญี่ปุ่นก็ใช้รถไฟความเร็วสูงในการเป็นหัวหอกในการพัฒนาเศรษฐกิจ ถ้าเราไม่ทำเราถอยหลัง

พิธีกร : ผมเห็นป้ายเขียนว่าถึงเวลาเลิกรอ ลุกขึ้นมากำหนดชีวิตตัวเอง นี่คือการลงทุนครั้งใหญ่ ครั้งนี้เป็นการที่เราจะกำหนดอนาคตประเทศไปด้วยกัน

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม : พัฒนาไปด้วยกัน กำหนดทิศทางไปด้วยกัน กำหนดทิศทางว่าจะไปทางไหน เตรียมตัวให้พร้อมกับโลกที่กำลังก้าวไปข้างหน้า

พิธีกร : ไปดู 360 องศากันเลย


พิธีกร : ตอนนี้เราอยู่ในโดมมัลติมีเดีย 360 องศา ใช่ไหมครับ ฉายอะไรครับบ้างตรงนี้


รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม  : อันนี้ก็เป็นสเตเดี้ยมประมาณ 400 ที่นั่ง พอเริ่มขึ้นมาท่านนายกรัฐมนตรีก็จะมาต้อนรับเราก่อน ท่านก็จะมาบรรยายภาพรวมนโยบาย ยุทธศาสตร์รัฐบาล แนวคิดสั้นๆ จากนั้นก็จะเป็นการเล่าบรรยายสรุป 8 นาที ว่าที่มาที่ไปโครงการทำอะไร ทำแล้วได้อะไร รถไฟเป็นยังไง นี่ก็เป็นข้อสรุป


พิธีกร : อย่างแรกที่เข้ามาในงาน อยากจะให้มาดูงานในโดมมัลติมีเดีย 360 องศาก่อน เพื่อที่จะได้เห็นภาพรวมว่า สิ่งที่จะมีการลงทุนนั้นเป็นอย่างไร ใช้เวลาเพียงแค่ 8 นาทีเท่านั้น

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม : 8 – 9 นาที คือตัวเนื้อหาครับ

พิธีกร : เราจะได้เห็นบรรยายสรุป ซึ่งใช้เวลาสักพักหนึ่งนะครับ นั่งกันเต็มสเตเดี้ยม

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม  : นั่งบ้าง ยืนบ้าง สบาย ๆ ครับ แล้วก็ดูจอ มีแผนที่ มีจอให้ดูกันครับ

พิธีกร : ก็คือเป็นแอนิเมชั่น และกราฟิกด้วย

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม : เป็นตัวเลข ข้อมูล แอนิเมชั่น ไวๆ ครับ ดูภาพรวม 8 นาทีก็รู้แล้วว่าอีก 7 ปี เราเป็นอะไร

พิธีกร : พอจากตรงนี้เสร็จแล้ว เราไปดูข้อมูลรายละเอียดข้างนอกได้เลย

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม : ใช่ครับ ไหลไปตามทางออกจากโดมนี้ครับ

พิธีกร : พอชมเสร็จแล้ว ออกมาตรงนี้ก็เริ่มเป็นนิทรรศการ มีอะไรบ้างครับตรงนี้

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม : เริ่มอันแรก ถามว่าทำไมต้องลงทุน ก็เริ่มเล่าเลยครับว่าหลัก ๆ ตอนนี้คือ เรื่องขนส่งเป็นเรื่องหัวใจหลักของการทำธุรกิจการแข่งขันของประเทศ น้ำมันแพงขึ้นทุกวันครับ

พิธีกร : คือเรียกว่า การพยากรณ์ให้ดูว่าจากนี้ไปราคาน้ำมันเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ อยู่แล้ว ซึ่งบ้านเราอย่างที่เราบอกว่า เราพึ่งพาน้ำมันมาก ใช้ถนนมาก

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม : ใช้ถนนมาก 80% ของการใช้ถนน น้ำมันขึ้นไปอย่างนี้ ค่าขนส่งก็จะขึ้นไปเรื่อย ๆ นี่คือตัวเหตุผลหนึ่งที่จะต้องพยายามเปลี่ยนจากการขนส่งทางถนนไปทางรางให้มากขึ้น ลูกค้าเปลี่ยนไป เมื่อก่อนเราค้าขายกับทางยุโรป อเมริกา แต่ปัจจุบันถ้าเราจะดูตามสัดส่วน อาเซียนเป็นลูกค้าเรามากขึ้น

พิธีกร : เพราะว่าถ้าเราเห็นจากกราฟิกจะเห็นชัดเจนมากว่า ไม่ว่าจะเป็นอเมริกาเศรษฐกิจก็แย่ ทางยุโรปเองก็แย่ แต่ว่าในเอเชียทั้งจีน และอินเดีย

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม : อาเซียนของเราก็มีความเจริญเติบโตเป็นแหล่งอนาคตใหม่ เพราะฉะนั้น ถามว่ามันมีความสำคัญอย่างไร เราได้เปรียบในแง่เชิงภูมิศาสตร์ ความเชื่อมโยง ถ้าเราทำเชื่อมโยงให้ดี ประเทศคู่ค้าเราเปลี่ยนมาทางอาเซียน เราสามารถแข่งขันเพิ่มศักยภาพ สร้างประวัติศาตร์ใหม่ ๆ ได้ ก็เป็นอนาคตอันหนึ่ง อาเซียนคืออนาคตใหม่

พิธีกร : แต่ที่สำคัญในอีก 2 ปีกว่า ๆ จะรวมตัวกันเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนที่เราทราบ ๆ กัน นี่คือประชากร 600 ล้านคน 10 ประเทศ จะทำให้เกิดการค้าระหว่างกันมากขึ้น ถ้ามีระบบระบบโลจิสติกส์ และระบบขนส่งที่ดี

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม  : แล้วนอกเหนือจากนั้น ถ้าสังเกต บวกกับ 600 ล้านแล้ว บวกกับจีน 1,400 ล้าน เป็น 2,000 ล้าน นั่นคือ 1 ใน 3 ของประชากรโลก ต้องเชื่อมโยงให้ได้ทุกมิติ ผมว่าจะเป็นภาคส่วนที่สำคัญ ภูมิภาคนี้อาเซียนบวกจีน อาเซียนบวกญี่ปุ่น อาเซียนบวกเกาหลีใต้ อาเซียนบวกนิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย เป็นภูมิภาคที่สำคัญครับ ฉะนั้นเราเองก็ต้องเตรียม

พิธีกร : ช่วงที่ผ่านมา ราได้เห็นว่าจีนได้มีการรุกตลาดมายังเอเชียมากขึ้น แล้วก็จีนเองได้ให้ความสำคัญ ผมดูแผนที่ตกใจเลย โครงข่ายของจีนเขา

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม : ถึงโปแลนด์แล้วครับ เขาเปิดคาร์โก้ที่โปแลนด์แล้วครับ

พิธีกร : เพราะฉะนั้น ถ้าเขามองว่าเขาสามารถที่จะเชื่อมลงมาลาว มาไทย ลงแหลมฉบังได้ ไปออกทวายได้

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม : ลงมาเลเซียได้ อันนี้คือเขาเรียกว่าสายแพเอเชีย ทางรถไฟซึ่ง อันนี้ดำเนินการแล้วก็จะมี 2 เส้นทาง อันหนึ่งลงมาลาว อันหนึ่งผ่านเวียดนาม อันนี้ก็จะเชื่อมต่อ เราก็ต้องเตรียมตัวให้พร้อมเหมือนกันที่จะดูเอาโอกาสทางนี้มาพัฒนาให้เราเข้มแข็งขึ้น

พิธีกร : เพราะฉะนั้น ที่บอกว่าอย่าปล่อยให้ประเทศตกขบวนรถไฟเที่ยวสุดท้าย

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม  : ใช่ครับ

พิธีกร : คือถ้าเราไม่ลงทุนตรงนี้อีก 7 ปี โครงข่ายอื่นเสร็จหมดแล้ว

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม  : ใช่ครับ

พิธีกร : ใช่ไหมครับ

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม  : คือสำหรับคนที่บอกว่า ไม่อยากเปลี่ยน ไม่อยากคิด ง่าย ๆ อยู่เฉย ๆ แต่อยู่เฉย ๆ คือถอยหลัง แต่เราก็ต้องกล้าตัดสินใจกล้าเดินไปข้างหน้า กล้าลงทุน

พิธีกร : ครับ เพราะว่าถ้าเห็นอย่างชัดเจนที่บอกว่าไทยอยู่บนความเสี่ยง เรามีปัจจัยภายนอกที่เราควบคุมไม่ได้ ปัจจัยในประเทศที่โครงสร้างพื้นฐานก็ไม่มีดีพอ เพราะฉะนั้นรัฐบาลจำเป็นต้องพัฒนา ประสิทธิภาพ ต่าง ๆ เพื่อให้ประเทศให้มีความเข้มแข็ง

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม  : เหมือนร่างกายคนครับ เวลามีสิ่งข้างนอกดีที่สุดต้องทำตัวเองให้เข้มแข็ง ต่อสู้กับสิ่งข้างนอกได้

พิธีกร : ซึ่งเห็นกราฟตัวนี้ ทำให้ผมรู้เลยว่ามันฟ้องว่าเรานี่พึ่งพาถนนมากเกินไป

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม  : ครับ 82 % ครับ

พิธีกร : เราพึ่งพาถนน 82.6 %

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม  : น้ำ 15 % อากาศนิดเดียว อันนี้โดยน้ำหนักอากาศน้อย แล้วก็ต้นทุนลดสูงสุด รางรองลงมา ถูกลง น้ำถูกสุด ตอนนี้เราไปพึ่งสิ่งที่แพงที่สุด สิ่งที่มีมลพิษสูงสุด อากาศ

พิธีกร : ก็คือการใช้ถนน

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม  : พยายามจะปรับตรงนี้ลงมาครับ

พิธีกร : ประเด็นสำคัญที่สุดการเติบโตของเศรษฐกิจไทย ผมเชื่อว่าการลงทุนภาครัฐ จะต้องเป็นตัวนำพอสมควร

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม  : ใช่ครับ

พิธีกร : ในอดีตเราเห็นการลงทุนครั้งใหญ่ ๆ ท่าเรือแหลมฉบังเราเคยลงทุนไปแล้วสุวรรณภูมิแต่ที่ผ่านมา เกือบ 10 ปี

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม  : ช้า ลงทุนน้อยลงครับ

พิธีกร : ผมว่าการลงทุนภาครัฐยังต่ำมาก

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม  : อันนี้ดูโดยง่าย ๆ งบประมาณรัฐโดยรวมในปี 2539 อยู่ที่ล้าน ๆ งบประมาณปีปัจจุบัน 2554 อยู่ที่ 2.4 ล้าน ๆ แต่ว่าคนที่ใช้ลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน จาก 165,000 มาเป็น 264,000 เพิ่มขึ้นในอัตราส่วนที่น้อยกว่ามาก ที่เราลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ความจริงแล้วคือตรงนี้ทำให้เราขาดโครงสร้างพื้นฐานมานานอีกอย่างเรื่องการใช้พลังงานครับ เราใช้พลังงานในการขนส่งปีนึงประมาณ 700,000 ล้านบาท ซึ่งเยอะมากจากมูลค่าการขนส่ง

พิธีกร : คือการขนส่ง

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม : นี่คืออนาคต แต่ปัจจุบัน 35 % ถ้าดูภาคการผลิต 36% เท่ากันเลยครับ เราผลิตกับขนส่งใช้พลังงานเท่ากัน ตรงนี้เปลืองมากแล้วไม่มีมูลค่าเพิ่มอะไรนะครับ ผลิตแค่ขนสินค้า

พิธีกร : รับเงินเองไม่ได้ต้องเสียเงิน

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม : ตรงนี้ต้องลดลงให้ได้ ลดลงจะช่วยจีดีพี เพราะเป็นการนำเข้าทั้งนั้น

พิธีกร: เราผลิตเองไม่ได้ต้องเสียเงินไปด้วย

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม : ตรงนี้ต้องลดลงให้ได้ ลดลงช่วย GDP ลดลงไปด้วยเป็นการนำเข้าทั้งนั้น

พิธีกร : เพราะฉะนั้น ตรงนี้เองเลยทำให้ความสามารถในการแข่งขันของเราลดลง คือเห็นกราฟตัวนี้ รู้เลยว่านี่คือเพื่อนบ้านเราทั้งนั้น ใช่ไม๊ครับ สิงคโปร์เบอร์สอง  ฮองกงเบอร์สี่  เกาหลี 22 มาเลเซีย 29 ไทย 49

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม  : ต้องมองอย่างนี้ บางคนมองว่านี้คือจุดอ่อน แต่ผมมองว่านี่คือโอกาส เพราะว่าการที่เราอยู่ตรงนี้ ถ้าสามารถลงทุนในสิ่งที่ถูกต้องในเวลาที่เหมาะสมได้ เราจะก้าวกระโดดได้ คนที่อยู่ต้น ๆ ลงทุนยากแล้วของเรานี้ถ้ามองให้ดีวิเคราะห์ให้ถูก เรากล้าเราปรับอย่างก้าวกระโดดได้

พิธีกร : ครับผม

พิธีกร : ธนาคารโลกมีการลำดับด้านโลจิสติกส์ของไทยดูแล้วรู้สึกว่า

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม : โครงสร้างพื้นฐานแบ่งเป็นสาขา ถนน ราง ท่าเรือ ท่าอากาศยาน ถนนอันดับ 36 รางอันดับ 57 ท่าเรือ 43 ท่าอากศยาน 28 ยังด้อยกว่า สิงคโปร์ มาเลเซีย อย่างที่เรียนว่าอย่ามองว่าเป็นจุดอ่อน ให้มองว่าเป็นโอกาส เราได้พลิกประเทศ

พิธีกร : มองว่าควรพัฒนาอะไร สิ่งที่จะพลิกนี้คือการสร้างเครือข่าย เป็นการสร้างโอกาสให้ประชาชน นี้คือนาคต

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม  : ทั้งหมดอันนี้บางส่วนไม่ได้อยู้ใน 2ล้านล้านบาท อนาคตเราต้องทำอะไรบ้าง ปัจจุบันเรามีถนนทั้งสี่เลนสองเลน มีแผนทำสี่เลนทั่วประเทศนี้ มาตั้งแต่ปี 2538 แล้ว แต่เนื่องจากงบประมาณไม่มียังทำไม่ครบสี่เลน เชื่อมโยง เพราะฉะนั้นเราจะทำสี่เลนให้ครบมีเพิ่มมาอีกประมาณ 1,000 กว่ากิโลเมตรอีก 3 โครงการทำทางหลวงเชื่อมโยงระหว่างประเทศออกไปอีกสองเส้นทาง ทางหลวงเก่าสี่เลนที่สภาพไม่ดี บูรณะให้หมด ทำมอเตอร์เวยใหม่อีก3เส้น ทำสถานีขนส่งสินค้าอีก 15 แห่ง ทำเส้นทางท่องเที่ยวรอยอลโค้ตริมชายฝั่งด้านอ่าวไทย ทำเกทเวย์แก้ปัญหาในกรุงเทพมหานคร

พิธีกร : นี้คือถนนไม่ได้ทิ้งพัฒนาด้วย แต่ว่ารางคือตัวใหญ่

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม  : ถนนนี้ปัจจุบันเราทิ้งไม่ได้ ถนนค่อนข้างดีอยู่แล้วระดับหนึ่ง เราก็เติมเต็ม ถนนเองเราคงไม่สามารถพลิกจากวันนี้ เป็นรถไฟทั้งหมด 100% ได้ ถนนก็อย่าละเลย รางทำหลักๆสามอย่าง รางคู่ทำเพิ่มขึ้นอีก3,000 กว่ากิโลเมตร เพื่อให้เดินทางได้สะดวกขึ้นความเร็วสูงอีก 4 เส้นทาง ก็กรุงเทพฯ-เชียงใหม่ กรุงเทพฯ –โคราชฯ กรุงเทพฯ-ระยอง  กรุงเทพฯ-หัวหิน รถไฟฟ้า อีก 10 สายในกรุงเทพฯ ประมาณ 400 กว่ากิโลเมตร ทำท่าเรือเพิ่มอีกอย่างน้อย 3-4 แห่ง คือชุมพร สงขลา แล้วแถวสตูลท่าเรือในแม่น้ำป่าสัก แหลมฉบังเฟส 3 ก็ต้องทำ ในเฟส 3นี้อาจจะอยู่ในการลงทุนของรัฐวิสาหกิจเอง ท่าอากาศยานต้องทำ สุวรรณภูมิเฟส 2 ต้องทำแล้วเพราะผู้โดยสารเรา 50 ล้านคนต่อปีแล้วเพิ่มเป็น 65 ล้าน ท่าอากาศยานภูเก็ตต้องเพิ่มทางอากาศ เราโชคดีอย่างหนึ่งเป็นภาคที่มีกำไรมีรายได้ค่อนข้างสูงเพราะฉะนั้นหลาย ๆ อย่างรัฐไม่ต้องรับผิดชอบ AOT ทำได้ วิทยุการบินทำได้ การบินไทยทำได้ อันนี้ก็ไม่เป็นภาระให้เราดูในภาพร่วมแล้วมันเป็นในอนาคตของเรา

พิธีกร : แต่ว่าการลงทุนครั้งใหญ่จะเอาเงินมาจากไหน จะลงทุนอย่างไรครับ

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม : คือหลัก ๆ ต้องดูก่อนว่ายุทธศาสตร์ของกระทรวงคมนาคมคืออะไร เราใช้ยุทธศาสตร์สามด้านครับ คือว่า Modal Shift หรือการเปลี่ยนจากรถมาเป็นรางให้มากขึ้น การเชื่อมโยงหรือ connectivity การเชื่อมโยงในประเทศ และคือความคล่องตัว mobility ให้เดินทางสะดวกขึ้นเหมือนรถไฟฟ้าในกรุงเทพมหานครแล้วก็จากนี้เราก็จะพัฒนาในโครงการต่าง ๆ ก็อย่างมีรถไฟความเร็วสูง รถไฟรางคู่ รถติดสาย เครื่อข่ายถนน ด่านทั่วประเทศ 40 แห่ง พัฒนาขยายท่าเรือ ลองมองตรงนี้ครับ ว่าเงินจริง ๆ แล้ว ตัว พรบ.โครงสร้างพื้นฐานก็เป็นแค่ส่วนหนึ่ง อันนี้คือประมาณ 2ล้านล้าน เราอาจจะเอามาจากเงินกู้ในประเทศ บางส่วนอาจกู้นอกประเทศหรือแล้วแต่กระทรวงการคลังพิจารณา ขณะเดียวกันนี้ เราไม่ได้จบแค่ 2 ล้านล้านบาท มันก็ยังมีส่วนงบประมาณปกติรายปี มีเงินกู้อื่น ซึ่งอาจจะนอกเหนือจาก พรบ. ซึ่งหน่วยงานอาจจะกู้และรัฐวิสาหกิจเอง

พิธีกร : ที่เขามีอยู่แล้ว ที่เขาลงทุนประจำปีของเขา

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม : ใช่ครับ หรือว่าอย่างการท่าเองก็ต้องกู้เงินมา ยังกู้ของเขาเองไม่เกี่ยวกับ พรบ. นี้ หรือว่าจะเป็น PDP  คือว่าในบางส่วนซึ่งเอกชนมาร่วมมือได้ การเดินรถ การบริหารจัดการนี้ก็มารวมกัน ดังนั้น มาจ่ายก่อน 2ล้านล้าน  มีส่วนอื่นที่มาประกอบกันด้วย แต่ว่าที่เราพูด เราพูดก้อนนี้เป็นหลัก ตัวกู้เงิน พรบ. ครับ

พิธีกร : ซึ่งถ้าดูแล้วการลงทุนครั้งใหญ่ครั้งนี้มันจะทำให้ระหว่างการลงทุน เศรษฐกิจของประเทศก็หมุนไปด้วย

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม : ใช่ครับ

พิธีกร : คือไม่ใช่แค่รอเสร็จอีก 7 ปี

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม : ไม่ครับ

พิธีกร : แต่ว่าเศรษฐกิจทุกอย่าง การก่อสร้าง การสร้างงาน มันก็จะเกิดมาคู่กัน ซึ่งเมื่อเสร็จแล้วนี้ เฉพาะการลงทุนรถไฟความเร็วสูงจะสามารถประหยัดเงินและเวลานี้คือตัวเลขที่จะเห็น success

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม  : โดยเฉพาะเป็น แอปสแตรค เป็นด้านที่ด้านเงินกับด้านเวลาอย่างเดียวนี้ ปีหนึ่ง 50,000 กว่าล้านบาทคือถ้าเราตีมูลค่าเรื่องแรก การดูแลรักษารถยนต์ เรื่องเวลา เรื่องสิ่งแวดล้อม ตัวเลขที่ทาง สนข. เขาคำนวณมา ปีหนึ่งกว่า 50,000 กว่าล้านบาท ซึ่งสะสมมาแล้ว 10 ปี ก็ 500,000 ล้านแล้ว

พิธีกร : ถ้าเรามาดูรถไฟความเร็วสูงครั้งนี้จะเป็นการลงทุนครอบคลุม 4 เส้นทางหลักของประเทศ

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม  : ใช่ครับ เชิญทางนี้ครับ

พิธีกร : นี้อาจจะเป็นหน้าตาคร่าว ๆ ของสถานีรถไฟบางซื่อที่จะเป็นชุมทางขนาดใหญ่ของรถไฟความเร็วสูง

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม : ความเร็วสูงสีแดง รถไฟใต้ดิน รวมหลายๆอันเลยครับ จะเป็นศูนย์กลางของประเทศไทย ทั้งกรุงเทพฯครับ

พิธีกร : ซึ่งถ้าดูเฉพาะเส้นทางความเร็วสูง นี่คือเส้นทางที่จะทำ ใช่ไหมครับ

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม  : ก็เริ่มจากกรุงเทพฯไปถึงเชียงใหม่นี้เส้นแรก กรุงเทพฯเริ่มเชียงใหม่ อีกอันหนึ่งคือกรุงเทพฯ-หนองคาย ต่อไปลาวเข้าคุนหมิง แต่ว่าทำแค่นครราชสีมาก่อนช่วงแรก กรุงเทพฯไปถึงระยอง จันทบุรี ตราด จะทำถึงพัทยาระยองก่อน กรุงเทพฯถึง – ปาดังเบซาร์ ทำถึงหัวหินก่อน และนี่ที่เห็นเป็นเส้นทึบนี้เราจะทำก่อนภายในระยะแรก

พิธีกร : อันนี้คือภายใน 2020 เสร็จ

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม : ใกล้เคียงครับ แต่ว่าคงจะเปิดเป็นเศษเสี้ยว เปิดก่อนวิ่งช่วงนี้ได้ก่อน คือเสร็จที่ไหน วิ่งก่อนแค่นั้น ไม่ต้องเปิดทั้งเส้นครับ ทำเป็นแบบขยายไปเป็นเส้นตรงออกไป

พิธีกร : แสดงว่าอันนี้คือการให้คนโดยสารด้วย นี้ทำเป็นรถโดยสารเป็นหลัก ใช่ไหมครับ

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม  : ใช่ครับ มีสินค้าจำพวกมูลค่าสูง ๆ สินค้าเน่าเสียง่ายประกอบด้วย แต่ก็จะเน้นคนครับ

พิธีกร : ที่บอกว่าส่งดอกไม้ เฉพาะไอเท็ม (Item) ต่างๆ

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม  : เราดูก็คือ 30 ล้านเที่ยวต่อปี

พิธีกร : 30 ล้านเที่ยวต่อปี

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม : ในช่วงที่เปิด สมมุติค่าโดยสาร คนหนึ่ง กรุงเทพ-เชียงใหม่ ราคา 1,500 บาท ค่าโดยสารอย่างเดียวก็ประมาณ 40,000 กว่าล้านบาท อันนี้คือตัวเลขรถไฟครับ ปี 2533 มี 85 ล้านคน ต่อปี พอปี 2554 เหลือ 45 ล้านคน

พิธีกร : อันนี้คือรถไฟไทยแบบเดิม ที่ยังใช้กันอยู่ ทั้ง ๆ ที่ถ้าเกิดมองว่า ในช่วงประมาณ 5-6 ปีที่ผ่านมา มีโครงการรถไฟฟรีด้วย แต่ว่าจำนวนผู้โดยสารกลับลดลง แสดงว่าผู้โดยสารเองก็เปลี่ยนโหมด

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม : ใช่ครับ ก็อาจจะเป็นเรื่องของการลงทุนไม่ดี รถไฟอาจจะไม่ตรงเวลา ช้าครับ อยู่ที่ 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง รถไฟถึงช้าอยู่ที่ 39

พิธีกร : ซึ่งถ้าเราไปลงทุนความเร็วสูง ความเร็วของรถไฟ เท่าไหร่

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม : 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

พิธีกร : 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เพิ่มขึ้นจากนี้ประมาณ 4-5 เท่า

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม  : แต่ถ้าเป็นทางคู่ก็ประมาณ 100 – 120 อันนี้คือกรมคมนาคมขนส่งเครือข่ายในปัจจุบัน

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม  : ปัจจุบันก็จะมีรถไฟ ถนนลองสังเกตุดู มันมีสีเขียวกับสีส้ม เห็นไหมครับ

พิธีกร : สีม่วงนี้ใช่ไหมครับ

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม : สีเขียวนี้คือที่เป็น 4 เลนแล้ว จะเห็นว่ามันจะมีคอขวดอยู่ตามเส้นทางต่าง ๆ เส้นทางหลัก มันจะมีคอขวดที่เป็น 2 เลนอยู่กระจัดกระจายไปทั่วเลย อันนี้คือตัวที่เราจะปรับให้เป็นถนนเส้นหลัก เป็น 4 เลนทั้งหมด เพราะฉะนั้นมันก็ช่วยให้ที่วิ่งมา 4 เลน ไม่ต้องมาเจอคอขวด ปรับแนวหลัก จะปรับให้เป็น 4 เลน ถนน 4 เลนเดิมที่มันมีความทรุดโทรมอยู่ ก็ปรับซ่อมแซมให้มันดีทั้งเส้น ฉะนั้นในรูปนี้ก็จะมีการปรับรวม มีการเพิ่มเส้นทางรถไฟใหม่ เส้นทางรถไฟปัจจุบันจะเห็นได้ว่าไปแค่ 47 จังหวัด จะมีเส้นทางใหม่ที่เพิ่มจากเด่นชัย ขึ้นไปทางเชียงราย แล้วก็มีจากขอนแก่นไปทางนครพนม ในรูปก็จะมีครับ ถนนเพิ่มเป็นยังไง รถไฟเป็นยังไง สีแดงคือรถไฟทางคู่ ที่เราจะปรับเป็นทางคู่ทั้งหมด สีม่วงคือรถไฟใหม่ จากขอนแก่น – นครพนม จากเด่นชัย – เชียงราย ก็เห็นว่ามันมีโครงข่ายที่เพิ่มขึ้นมาอย่างมากมายในกรุงเทพฯเองก็มีรถไฟ 10 สายที่เพิ่มขึ้นมาใหม่

พิธีกร : ถ้าดูแล้วตรงนี้เป็นโมเดลของสถานีต่างๆ ใช่ไหมครับ

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม  : โครงการที่ดำเนินการอยู่ครับ

พิธีกร : ที่ดำเนินการอยู่ด้วย นี้เป็นสายสีน้ำเงินที่ดำเนินการอยู่ คือสีม่วง แต่นี้ผมเห็นสนใจคือสถานีบางซื่อ

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม  : อันนี้บางซื่อ จะเป็นศูนย์กลางในอนาคต ของกรุงเทพมหานคร นี้คือถ้าเกิดตอนนี้คือทางด่วนขั้นสอง ที่วิ่งมาทางแจ้งวัฒนะ

พิธีกร : อันนี้คือเสร็จแล้ว ใช้อยู่

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม : เสร็จแล้วที่เรามอง ถ้าขับเข้ากรุงเทพ ทางขวามือที่เป็นรางรถไฟ จอดเยอะ ๆ ใกล้ ๆโรงปูน ถัดไปไกล ๆ ก็จะเป็นที่ว่างอยู่ นี้จะเป็นศูนย์กลางของรถไฟความเร็วสูง สายเหนือ สายอีสาน สายใต้ และอาจจะเป็นสายตะวันออกด้วยที่มาเชื่อมที่นี่ รถไฟสายสีแดงที่วิ่งจากนี่ไปรังสิต ที่ไปมหาวิทยาลัยรังสิต ออกไปตลิ่งชันก็มาที่นี่  รถไฟชานเมือง รถไฟทางไกลเชียงใหม่ที่วิ่ง ขบวนช้าหน่อยก็อยู่ที่นี่ รถไฟสีน้ำเงินก็จะอยู่ใต้ดินแถวนี้ ฉะนั้นตรงนี้จะกลายเป็น Center เป็นศูนย์กลางที่จะมีรถไฟวิ่งเต็มไปหมดเลย จากนี้ ทั้งเข้าและออก ก็จะเป็นศูนย์กลางใหญ่ มีศูนย์การค้า มีอะไรหลาย ๆ อย่าง

พิธีกร : ซึ่งตรงนี้ก็คือต้องสร้างไปพร้อม ๆ กันด้วย

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม  : เริ่มสร้างแล้วครับ

พิธีกร : เริ่มสร้างแล้ว

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม : ครับ

พิธีกร : แล้วก็เสร็จก่อนเวลา

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม : อันนี้ก็เสร็จประมาณ 3 ปี พอ 3 ปีเสร็จจะใช้สลับสีแดงก่อน จากนั้นรถไฟความเร็วสูงก็มาเสียบเพิ่ม ฉะนั้น ก็ต้องทำชานชาลาเพื่อไว้มี 2 ชั้น ชั้นละ 12 แทรค ก็ 24 แทรค จะเหมือนเมืองนอกเลย จะเต็มมีทั้งรถไฟความเร็วสูง รถไฟสีแดง รถไฟทางไกล รถไฟทางใกล้ ก็สนุกครับ สถานีก็จะคึกคักมาก แล้วต่อไปรถไฟที่ตัดกรุงเทพ ที่ตัดถนน แถวแจ้งวัฒนะ แถวงามวงศ์วานที่ต้องรอ แกร๊งๆ ก็ไม่มีแล้ว เพราะมันจะยกระดับทั้งหมด ก็จะไม่ต้องมีรถติดรถไฟแล้ว ก็จะดีขึ้น จะวิ่งเข้ามาเสียบ จะยกระดับเข้ามาที่บางซื่อ

พิธีกร : เราดูมาบางส่วนแล้ว แต่ว่าท้ายที่สุดแล้ว มีคนถามว่าลงทุนตั้งมากมาย ได้อะไรกลับมาบ้างครับ

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม  : ผมว่านี้เป็นการสรุปครับ ขั้นแรกเลยถ้าเกิดดูก็คือสร้างโอกาสใหม่ ในแง่ของประชาชนทุกคน เส้นทางที่ใหม่ การเชื่อมโยง การพัฒนาโครงข่ายที่ดีขึ้น คือทุกคนมีโอกาสใหม่ ๆ มีการสร้างเมืองใหม่ โอกาสใหม่ ๆ พี่น้องประชาชน ไปมาหาสู่กันสะดวกขึ้น ลดเวลาการเดินทางมีเวลาอยู่กับครอบครัวต่างๆมากขึ้น ลดต้นทุน นี้ก็หัวใจเหมือนกัน นะครับ โลจิสติกส์จาก 5.2 % ของ GDP เราพยายามจะลดลงเหลือ 3.2 %ให้ได้ ซึ่งตรงนี้อย่างเดียวมูลค่า ก็เป็น 2 แสนกว่าล้านบาทแล้ว ต้นทุนโลจิสติกส์นะครับ

พิธีกร : ลดการใช้พลังงานน้ำมัน

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม  : ลดเชื้อเพลิงก็เป็นแสนล้านถ้าทำได้ จากถนนมาเป็นรางให้มาก เพิ่มการขนส่งทางราง  เพิ่มการขนส่งทางน้ำและในทุกมิติ เกษตรกรรมก็ดีขึ้น  อุตสาหกรรม  ลดต้นทุนการผลิต  การท่องเที่ยวดีขึ้น ท่องเที่ยวไปมาสะดวกปลอดภัยยิ่งขึ้น  การบริโภค  ส่งเสริมการบริโภคในประเทศ การส่งออกสะดวกขึ้น ตามด่านชายแดนตามเกตเวย์ต่างๆ และก็มีการลงทุนเอกชนเพิ่มขึ้นตามมมา และก็หนี้ก็ไม่เกิน 50 % ของ GDP

พิธีกร : ก็คือที่ไทยเป็นห่วงว่า หนี้สาธารณะจะสูงขึ้นมากมาย นี่คืออยู่ในกรอบนี้แน่นอน 

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม : อยู่ในต่ำกว่าเกณฑ์มาก มากสุด 60 เราใช้ 50  และก็มีจีดีพีที่เพิ่มอย่างน้อย 1 %  อันนี้เป็น Real GDP 

พิธีกร : นี่คือที่เกิดจากการลงทุน การก่อสร้าง  กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้น

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม : ใช่ครับ และจ้างงาน 5 แสนตำแหน่ง เงินเฟ้อจากส่วนนี้ไม่น่ามากประมาณ 0.2 % หนี้สาธารณะไม่เกิน 50 ขาดดุลเดินสะพัดไม่เกิน 1 เปอร์เซ็นต์  ก็มี GDP เพิ่ม นี่เป็น Real  นี่เป็น  Norminal  GDP อยู่  1.3 %  ก็คือรายได้สุทธิเฉลี่ย 4.4  หมื่นล้านบาทต่อปี ผลตอบแทนทั้งหมด 2.89 , 2.79 แสนล้านบาทต่อปี

พิธีกร : และที่สำคัญคือเน้นเลยว่า ช่วยคนเล็ก ๆ 

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม : คือไม่เฉพาะรายใหญ่  ทุกคนได้ประโยชน์หมด ในการเชื่อมโยงและก็มีระบบลีเดอร์ ระบบกระจายไปถึงภูมิภาคด้วย ลูกค้า ลูกค้าเราเชื่อมถึงจีนได้จากเรา 60 ล้าน กลายเป็น 1 พัน 3 ร้อยล้าน มีลูกค้าจากเพื่อนบ้าน เพิ่มความเป็นฮับหลายๆอย่าง  นอกเหนือจากด้านตัวเงินแล้ว เศรษฐกิจแล้ว สังคมก็เป็นผลมากเลยครับ ด้านโลกร้อน รถไฟเป็นโหมดที่มีเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากที่สุด อุบัติเหตุถนนเราตายกันปีละหมื่นหว่าคน ถ้าเราเปลี่ยนเป็นรถไฟ เราจะมีความปลอดภัย ลดอุบัติเหตุ ลดการพิการ ลดการสูญเสียมากขึ้น

พิธีกร : ก็คือท้ายที่สุดแล้ว ถ้าเศรษฐกิจดีขึ้น การทำมาหากินดีขึ้นและสภาพชีวิตดีขึ้น 

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม  : สภาพชีวิตดีขึ้น

พิธีกร : วันนี้ขอบคุณรัฐมนตรีชัชชาติ มากเลยครับ ท่านผู้ชมที่สนใจมางานนี้ได้ที่ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ ที่แจ้งวัฒนะ มีรถรับส่งจากรถไฟฟ้าบีทีเอสมาที่นี่ไปจนถึงวันที่ 12 มีนาคมนี้ครับ  ทั้งหมดคือรายการรัฐบาลยิ่งลักษณ์พบประชาชน  วันนี้ ผมธีรัตถ์ รัตนเสวี สวัสดีครับ


………………………………………



กลุ่มยุทธศาสตร์และแผนการประชาสัมพันธ์ สำนักโฆษก

Comments