นายกรัฐมนตรีย้ำความสำคัญการคุ้มครองสัตว์ป่าในธรรมชาติและสัตว์ที่ใกล้สูญพันธ์ ยกระดับมาตรการดูแลช้างไทยและการค้างาช้างผิดกฏหมาย

นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีเปิดและกล่าวเปิดการประชุมสมัยสามัญภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดพันธุ์สัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ ครั้งที่ 16 โดยให้ความสำคัญต่อการคุ้มครองและสัตว์ป่าในธรรมชาติและสัตว์ที่ใกล้สูญพันธ์ เพิ่มมาตรการดูแลช้างไทยและปราบปรามการค้างาช้างผิดกฏหมาย ยกระดับสู่สากล



วันนี้ (3 มีนาคม 2556) เวลา 11.00 น. ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานพิธีเปิดและกล่าวเปิดการประชุมสมัยสามัญภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดพันธุ์สัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ ครั้งที่ 16 (The 16th Convention on International Trade in Endangered Species of Wild Flora and Fauna - CITES) สรุปสาระสำคัญดังนี้

นายกรัฐมนตรีได้กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมประชุมสมัยสามัญภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดพันธุ์สัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ ครั้งที่ 16 หรือ CITES 16 COP ในนามของรัฐบาลและประชาชนของชาวไทย

การประชุม CITES ครั้งนี้ถือเป็นครั้งที่ 2 ที่จัดขึ้นในประเทศไทย โดยครั้งแรกจัดขึ้นเมื่อปีพ.ศ. 2547 ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ไทยให้ความสำคัญอย่างมากกับการประชุม CITES รวมถึงให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์สัตว์ป่า โดยในโอกาสครบรอบ 40 ปีของ CITES นายกรัฐมนตรีกล่าวแสดงความยินดีกับความสำเร็จทั้งหมดของ CITES ในการปกป้องชนิดพันธุ์สัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ ในช่วงระยะเวลา 4 ศตวรรษที่ผ่านมา

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า การที่ CITES COP ได้กลับมาจัดการประชุมขึ้นที่ไทยอีกครั้ง เป็นการแสดงถึงความเชื่อมั่นและความไว้วางใจต่อการมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ชนิดพันธุ์สัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ การอนุรักษ์แหล่งที่อยู่ตามธรรมชาติ และการให้การส่งเสริมเพื่อให้เกิดความร่วมมือของไทย รวมถึงภูมิภาคอาเซียน

นายกรัฐมนตรียังได้ย้ำว่า การส่งเสริมและสนับสนุนการอนุรักษ์ชนิดพันธุ์สัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ถือเป็นสิ่งสำคัญสำหรับประเทศไทย ทั้งนี้ไทยได้จัดทำแผนแม่บทแห่งชาติสำหรับการอนุรักษ์สัตว์ป่า ปี 2548-2557 (National Master Plan for Wildlife Resources Conservation 2005-2014) โดยมีการกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจน เพิ่มประสิทธิภาพในการอนุรักษ์ชนิดพันธุ์สัตว์ป่า และแหล่งที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติให้ได้มาตรฐาน รวมถึงติดตามโครงการที่จะนำชนิดพันธุ์สัตว์ป่าที่ใกล้สูญพันธุ์กลับไปอยู่ตามแหล่งธรรมชาติดังเดิม

นอกจากนี้ประเทศไทยยังมุ่งมั่นที่จะอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติและระบบนิเวศสำหรับชนิดพันธุ์สัตว์ป่าและพืชป่าต่างๆ ตัวอย่างเช่น ผืนป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร และห้วยขาแข้งในประเทศไทย ซึ่งอุดมไปด้วยความหลากหลายทางชีวภาพและได้รับการยอมรับเป็นมรดกโลก โดยวิธีนี้ไม่เพียงแต่จะช่วยปกป้องชีวิตสัตว์ป่าได้ดีขึ้นแล้ว ยังตรงกับนโยบายของรัฐบาลในการสนับสนุนและส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืน (sustainable development) และการเติบโตสีเขียว (green growth) อีกด้วย

แต่ทั้งนี้เป้าหมายของ CITES จะสำเร็จได้ต้องผ่านความร่วมมือระหว่างประเทศ เช่นนี้จึงเป็นเหตุผลว่าการประชุม CITES COP ครั้งที่ 13 ในประเทศไทย ไทยได้ก่อตั้งเครือข่ายปราบปรามการลักลอบค้าสัตว์ป่าและพันธุ์พืชที่ผิดกฎหมายในภูมิภาคอาเซียน หรือเครือข่ายอาเซียนเว็น (the ASEAN Wildlife Enforcement Network or ASEAN WEN) ซึ่งเกิดความก้าวหน้าเป็นอย่างมากตั้งแต่ได้มีการก่อตั้ง ทั้งในด้านการสร้างศักยภาพ และความพยายามในการประสานกฎระเบียบ ซึ่งภายในภูมิภาคอาเซียนเองก็มีชนิดพันธุ์สัตว์ป่าและพืชป่าที่เป็นที่รู้จักกันในโลกอยู่จำนวนมาก

ทั้งนี้ จากการที่ภูมิภาคอาเซียนกำลังจะรวมกันเป็นประชาคมอาเซียนในปี 2558 จึงมีความสำคัญอย่างมากที่จะต้องปกป้องภูมิภาคจากกิจกรรมข้ามพรมแดนที่ผิดกฎหมาย ซึ่งนายกรัฐมนตรีหวังว่าการคุ้มครองสัตว์ป่าและความร่วมมือเพื่อต่อต้านการค้าพันธุ์สัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ที่ผิดกฎหมายจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์อาเซียน เพื่อลดผลกระทบเชิงลบของการเชื่อมโยงที่เพิ่มขึ้น

นายกรัฐมนตรีได้ถือโอกาสนี้กล่าวถึงความสำคัญของ “ช้าง” สัตว์คู่บ้านคู่เมืองของประเทศไทย ทั้งทางด้านวัฒนธรรมและมีบทบาทในประวัติศาสตร์ของชาติไทยคู่บารมีกับพระมหากษัตริย์มาอย่างยาวนาน ในปัจจุบัน พระบรมวงศานุวงศ์ โดยเฉพาะสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงมีพระราชดำริผลักดันโครงการนำช้างกลับสู่ผืนมาป่ามาอย่างต่อเนื่อง ด้วยเหตุนี้ ช้างจึงปรากฏอยู่ในสัญลักษณ์ของชาติมาโดยตลอด ทั้งธงชาติไทยแบบเก่า ที่ยังปรากฏอยู่ในบางหน่วยงาน เช่น กองทัพเรือ และสถานเอกอัครราชทูตไทยในต่างประเทศ

นอกเหนือจากการเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมไทยแล้ว เราควรที่จะปกป้องช้างและสิ่งมีชีวิตอื่นๆที่อยู่ตามธรรมชาติ เช่นเดียวกับมนุษย์ ช้างก็มีจิตใจและความรู้สึก ดังนั้น เราควรที่จะให้ความสนใจต่อการกระทำต่อช้าง จึงเป็นเหตุผลให้เราจำเป็นต้องเพิ่มจำนวนช้างในธรรมชาติ ซึ่งไทยร่วมเป็นหนึ่งในภาคีอนุสัญญา CITES ก็เพื่อร่วมมือกับภาคีประเทศต่างๆในการต่อสู้กับการค้างาช้างข้ามประเทศด้วย อย่างไรตาม เป็นที่น่าเสียใจที่ประเทศไทยกำลังถูกใช้เป็นเส้นทางการค้างาช้างอย่างผิดกฎหมาย

ทั้งนี้ รัฐบาลมีมาตรการการแก้ปัญหาดังนี้

1. รัฐบาลได้เพิ่มงานด้านการข่าวและร่วมมือกับศุลกากรประเทศต่างๆ ซึ่งได้ช่วยลดจำนวนการค้างาช้างแอฟริกา

2. รัฐบาลไทยได้เข้มงวดในการบังคับใช้กฎหมาย โดยจำกัดผลิตภัณฑ์ที่มาจากงาช้างในประเทศที่อยู่ภายใต้กฏหมายปัจจุบัน ช้างในประเทศสามารถนำมาใช้เป็นพาหนะอย่างถูกกฎหมายในพื้นที่ป่าเขา ซึ่งจะต้องมีการบังคับใช้กฎมายอย่างบูรณาการในเรื่องนี้ และต้องมีระบบการลงทะเบียนของช้างในประเทศและผลิตภัณฑ์งาช้าง เพื่อให้สามารถเปิดโปงขบวนการการค้าผลิตภัณฑ์งาช้างอย่างผิดกฎหมาย

3. ก้าวต่อไป เราต้องแก้ไขกฎหมายของชาติ โดยมีจุดมุ่งหมายที่จะยุติการค้าผลิตภัณฑ์งาช้าง เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติสากล อันจะช่วยให้มีการคุ้มครองช้างในไทยและแอฟริกา

นายกรัฐมนตรีเชื่อว่าไม่มีใครให้ความรักและห่วงใยช้างได้เท่าคนไทยแล้ว ที่พร้อมจะปกป้องการค้าช้างข้ามชาติ ซึ่งได้มีการพูดคุยและทำงานร่วมกันระหว่างผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง จากทั้งภาคประชาสังคมและชุมชนท้องถิ่น ตลอดจนภาคีของ CITES อย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ ความร่วมมือผ่าน CITES จะเป็นกลไกสำคัญที่จะนำไปสู่การคุ้มครองและสร้างความปลอดภัยสัตว์ป่าในธรรมชาติและสัตว์ที่ใกล้สูญพันธ์ ซึ่งเป็นจุดหมายร่วมกันของทุกคน ณ ที่นี้ และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการประชุมครั้งนี้จะประสบความสำเร็จบรรลุเป้าหมายแนวทางคุ้มครองสัตว์ป่าได้อย่างเป็นรูปธรรม


**************************************


กลุ่มวิเทศสัมพันธ์ / สำนักโฆษก

Comments