กระทรวงอุตสาหกรรมโชว์ผลงานตามนโยบายรัฐบาลการเพิ่มพื้นที่อุตสาหกรรมรองรับการลงทุน



กระทรวงอุตสาหกรรมเดินหน้าตามแผนยุทธศาสตร์ประเทศ (Country Strategy) และยุทธศาสตร์การเข้าสู่ประชาคมอาเซียน เตรียมพื้นที่อุตสาหกรรมรองรับการลงทุน พร้อมข้อเสนอมาตรการจูงใจ เพื่อสร้างความเชื่อมั่น


นายประเสริฐ บุญชัยสุข  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยต่อสื่อมวลชน ถึงผลการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลจากแผนยุทธศาสตร์ประเทศ (Country Strategy) และยุทธศาสตร์การเข้าสู่ประชาคมอาเซียนและเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับการก้าวเข้าสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ประกอบกับปัจจุบัน กลุ่มนักลงทุนชาวต่างชาติ อาทิเช่น ญี่ปุ่น จีน ให้ความสนใจในการย้ายฐานการผลิตมาลงทุนในประเทศมาก โดย กลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้รับความสนใจจะประกอบไปด้วย 4 กลุ่ม ดังนี้ กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ กลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า กลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมี/พลาสติกและกลุ่มอุตสาหกรรมเกษตรและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับเกษตร โดยทั้ง 4 กลุ่มอุตสาหกรรมยังเป็นอุตสาหกรรมที่มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง

ในส่วนของการเพิ่มพื้นที่เพื่อการอุตสาหกรรม รองรับการขยายตัวการลงทุนได้มอบหมายให้ การนิคม
อุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.)ไปดำเนินการพิจารณาถึงความเป็นไปได้ในการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมเพื่อรองรับกลุ่มอุตสาหกรรมของประเทศเป้าหมายเพื่อรองรับการให้บริการด้านโลจิสติกส์ และการค้าชายแดนเพื่อส่งเสริมให้เกิดการขยายตัวทางการค้า การลงทุน อุตสาหกรรม การเกษตร และบริการ
ดร.วิฑูรย์  สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานกรรมการ กนอ. ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า กนอ. เป็นกลไกลสำคัญในการเพิ่มศักยภาพการพัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรม พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวก เพื่อรองรับการขยายการลงทุนของภาคอุตสาหกรรม  ซึ่งในวันนี้ (28 กพ.) ได้มีการประชุมคณะกรรมการ กนอ.    ที่ประชุมมีมติเห็นชอบในเรื่องสำคัญต่างๆ ดังนี้
1. มาตรการจูงใจเพื่อสนับสนุนในการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่เป้าหมาย (1)สนับสนุนการก่อสร้างศูนย์บริการเบ็ดเสร็จครบวงจร (OSS) พื้นที่ประมาณ 500 ตารางเมตรในวงเงินไม่เกิน 10 ล้านบาท  (2)ยกเว้นค่ากำกับบริการ 2 ปี โดยให้ชำระค่ากำกับบริการในปีที่ 5 เป็นต้นไป (3)กนอสนับสนุนในเรื่องการประชาสัมพันธ์โครงการทั้งในประเทศ และต่างประเทศ (4) ทั้งนี้ กนอ. จะพิจารณาเข้าร่วมลงทุนในโครงการเป้าหมายหากโครงการมีความเป็นไปได้ทางด้านการตลาดและการเงินอยู่ในเกณฑ์ดี
2.หลักเกณฑ์แนวทางการจัดตั้งหน่วยธุรกิจ เพื่อลงทุนในต่างประเทศ(Business Unit)ในการคัดเลือกโครงการนำร่องเพื่อการลงทุน ใช้เกณฑ์การคัดเลือกซึ่งประกอบไปด้วย 6 เกณฑ์  ได้แก่ (1) นโยบายและแรงสนับสนุนจากประเทศไทยและประเทศที่จะเข้าไปลงทุน  (2) ศักยภาพในการเชื่อมต่อระบบโลจิสติกส์  (3) ความพร้อมของระบบโครงสร้างพื้นฐานและระบบคมนาคม (4) สิทธิ์ในพื้นที่  (5) ความหลากหลายของรูปแบบโครงการ  (6) พันธมิตรทางธุรกิจ  โดยมีปัจจัยที่ใช้ในการพิจารณา เลือกพื้นที่ที่มีศักยภาพ เช่น ด้านนโยบายและแรงสนับสนุนจากประเทศไทยและประเทศที่จะเข้าไปลงทุนศักยภาพของพื้นที่ในการเชื่อมต่อระบบโลจิสติกส์การเชื่อมต่อระหว่างทั้งสองประเทศ ความพร้อมของระบบโครงสร้างพื้นฐานและระบบคมนาคม สิทธิ์ในพื้นที่การลงทุน

ดร.วีรพงศ์  ไชยเพิ่ม  ผู้ว่าการ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า กนอ. ได้กำหนดแนวทางการพัฒนาโครงการเพื่อเพิ่มพื้นที่อุตสาหกรรมตามนโยบายของรัฐบาล ซึ่งมี 3 แนวทางในนการดำเนินโครงการ ดังนี้
1. การพัฒนาพื้นที่เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของกลุ่มอุตสาหกรรม (Cluster)
โครงการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรม SMEsเพื่อรองรับนักลงทุนทั้งชาวไทยและต่างประเทศมีพื้นที่ที่เหมาะสมในจังหวัดชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา อยุธยา และอื่นๆ สามารถรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย ในกลุ่มของอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า อุตสาหกรรมเกษตรและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง อุตสาหกรรมปิโตรเคมี/พลาสติก เป็นต้น
2. การพัฒนาพื้นที่เพื่อรองรับการให้บริการด้านโลจิสติกส์ และการค้าชายแดน
โครงการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมบริการด้านโลจิสติกส์ อ.เชียงของ จ.เชียงราย และโครงการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมชายแดนด่านพุน้ำร้อน อ.เมือง จ.กาญจนบุรี
3. การพัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรมตามพื้นที่เป้าหมาย (Area Base)
โครงการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมในจังหวัดเป้าหมายเพื่อเชื่อมโยงกับระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก(EWEC) โดยนำร่องในภาคตะวันออกเฉียงเหนือซึ่งมีผลการศึกษาความเป็นไปได้ในจังหวัดที่มีศักยภาพใน 8 จังหวัด คือ นครราชสีมา ขอนแก่น อุบลราชธานี อุดรธานี มุกดาหาร สกลนคร นครพนม และ หนองคาย

Comments