ผู้นำไทยและมาเลเซียร่วมหารือประจำปี เสริมสร้างเสถียรภาพและความมั่นคงชายแดนควบคู่การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม

นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีนำคณะรัฐมนตรีไทย หารือเต็มคณะกับ ดาโต๊ะ ซรี มูห์ฮัมหมัด นาจิบ บิน ตุน ฮัจญี อับดุล ราซัค นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย พร้อมด้วยรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องของมาเลเซีย ในการประชุมหารือประจำปี ครั้งที่ 5 โดยมีการหารือในประเด็นที่ครอบคลุมทั้งด้านความสัมพันธ์ เศรษฐกิจ ความมั่นคง

วันนี้เวลา 15.45 น. ณ สำนักนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย เมืองปุตราจายา มาเลเซีย นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีนำคณะรัฐมนตรีไทย ได้แก่ รองนายกรัฐมนตรี นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และนายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย หารือเต็มคณะกับ ดาโต๊ะ ซรี มูห์ฮัมหมัด นาจิบ บิน ตุน ฮัจญี อับดุล ราซัค นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย พร้อมด้วยรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องของมาเลเซีย ในการประชุมหารือประจำปี ครั้งที่ 5 โดยมีการหารือในประเด็นที่ครอบคลุมทั้งด้านความสัมพันธ์ เศรษฐกิจ ความมั่นคง ดังนี้

ความร่วมมือด้านการแก้ไขสถานการณ์จังหวัดชายแดนภาคใต้(จชต.)จะดำเนินการในลักษณะองค์รวม ครอบคลุมมิติด้านการพัฒนาเศรษฐกิจ ความมั่นคง การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และประเด็นข้ามชาติ รวมถึงความเชื่อมโยงระหว่างประชาชนและโครงสร้างพื้นฐานระหว่างไทยกับมาเลเซีย เพื่อเสริมสร้างเสถียรภาพและความมั่นคงในพื้นที่ชายแดน และสานต่อการดำเนินมาตรการสร้างความไว้ใจ Confidence Building Measures (CBMs) ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ บนพื้นฐานของกรอบ 3Es ได้แก่ การศึกษา การจ้างาน และการประกอบกิจการ ซึ่งแนวทางนี้จะช่วยส่งเสริมการพัฒนาทางเศรษฐกิจ สังคม และทรัพยากรมนุษย์ในเขตพื้นที่ชายแดนให้ดำเนินต่อไปอย่างราบรื่น ความร่วมมือการแก้ปัญหาสถานการณ์ในพื้นที่ชายแดนภาคใต้เป็นเรื่องที่สำคัญต่อคววามสัมพันธ์ โดยไทยให้ความั่นใจว่า ไทยแสวงหาทางแก้ปัญหาที่ยั่งยืน ด้วยการพัฒนาเศรษฐกิจ และการแก้ที่ต้นตอของปัญหา โดยไทยได้เล่าถึงความพยายามอย่างต่อเนื่อง เพื่อส่งเสริมสันติภาพและความมั่นคงในพื้นที่ภาคใต้ด้วยแนวทางต่างๆ เพื่อยุติปัญหาความรุนแรง และสร้างสภาพแวดล้อมที่สามัคคีและสันติ เพื่อประโยชน์ของประชาชนในพื้นที่ รวมทั้ง การริเริ่มกระบวนการพูดคุยกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และกลุ่มต่างๆที่เกี่ยวข้อง เพื่อแก้ที่ต้นตอของปัญหา และภายใต้กรอบใต้รัฐธรรมนูญของราชอาณาจักรไทยตามยุทธศาสตร์ที่ประกาศไว้ในนโยบายการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย นายกรัฐมนตรีมาเลเซียแสดงความสนับสนุนแนวทางของรัฐบาลไทย และเห็นว่ากระบวนการพูดคุยที่จะมีขึ้นเป็นความก้าวหน้าที่สำคัญสันติภาพ ในการนี้ นายกรัฐมนตรีมาเลเซียแสดงความพร้อมจะสนับสนุนไทยในการอำนวยความสะดวกต่างๆ ในการพูดคุย เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อสันติภาพและความรุ่งเร่องที่ยั่งยืนในพื้นที่ภาคใต้ของไทย ทั้งนี้ หน่วยงานความมั่นคงของ 2 ประเทศ จะประสานงานกันถึงการดำเนินการในรายละเอียด ทั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องต้องกันในการเรียกร้องให้ยุติการใช้ความรุนแรงต่อประชาชนผู้บริสุทธิ์ เพื่อเสริมสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจและความเชื่อมั่นระหว่างกัน เร่งรัดการเชื่อมโยงแผนการพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่ชายแดนระหว่างจังหวัดชายแดนภาคใต้ (Southern Development Plan-SDP)กับรัฐทางเหนือ (North Corridor Economic Region-NCER)และรัฐทางตะวันออก (East Coast Economic Region-ECER)ของมาเลเซีย การก่อสร้างเขตเศรษฐกิจชายแดนพิเศษที่ด่านสะเดา-บูกิตกายูฮิตัม รวมทั้งโครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโก-ลก 2 แห่ง เชื่อมโยงตากใบกับเปิงกาลันกุโบร์ และสุไหง โก-ลก กับรันเตาปันยัง ให้เกิดผลรูปธรรม เพื่อส่งเสริมการค้าและการลงทุนระหว่างไทยและมาเลเซีย ส่งเสริมความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุนระหว่างภาคเอกชนในพื้นที่ชายแดนของทั้งสองประเทศในสาขาน้ำมันและก๊าซ พลังงาน อุตสาหกรรมยานยนตร์ สินค้า ยางพาราและการท่องเที่ยว รวมถึงการสนับสนุนการจัดตั้งสภาธุรกิจไทย-มาเลเซีย โดยภาคเอกชนของทั้งสองประเทศ ส่งเสริมความร่วมมือด้านฮาลาล ที่มีศักยภาพอันมหาศาลและมีโอกาสที่เปิดกว้าง โดยทั้งสองฝ่ายสนับสนุนการจัดตั้งสมาคมธุรกิจฮาลาลระหว่างมาเลเซียกับไทย และฝ่ายมาเลเซียยินดีกับการจัดตั้งคณะกรรมการด้านการพัฒนาธุรกิจและสินค้าฮาลาลแห่งชาติของไทยเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2555 ซึ่งจะเป็นหน่วยงานหลักของไทยในการประสานงานความร่วมมือด้านฮาลาลกับ Halal Industry Development Corporation ( HDC ) ของมาเลเซีย ส่งเสริมความร่วมมือด้านคลื่นความถี่วิทยุในพื้นที่ชายแดน โดยร่วมมือกันในการบริหารคลื่นความถี่วิทยุในพื้นที่ชายแดนมาเลเซีย – ไทย ให้สอดคล้องกันมากขึ้นสำหรับการออกอากาศในระบบดิจิตอลและบริการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตความเร็วสูงเคลื่อนที่ การจัดระเบียบคลื่นวิทยุ ซึ่งจะช่วยให้ทั้งสองประเทศสามารถตอบสนองการขยายตัวของธุรกิจบริการด้านโทรทัศน์และโทรศัพท์เคลื่อนที่ ยินดีกับการลงนามความตกลงว่าด้วยการเดินทางข้ามแดน ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกในการเดินทางข้ามแดนระหว่างประชาชนในพื้นที่ และบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านเยาวชนและกีฬา ซึ่งจะช่วยส่งเสริมมิตรภาพและเจตนารมณ์อันดีระหว่างสองประเทศในการเตรียมการสู่การเป็นประชาคมอาเซียนในปี 2558 ส่งเสริมความร่วมมือด้านแรงงาน โดยมุ่งหมายให้แรงงานไทยในร้านต้มยำกุ้ง(ร้านอาหารไทย)ในมาเลเซียสามารถทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมาย รวมทั้งจะร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดในการแก้ปัญหาแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย เร่งรัดการดำเนินความร่วมมือด้าน (1)การจ้างงานและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ รวมทั้งการรับรองมาตรฐานทักษะฝีมือแรงงาน (2)ความร่วมมือด้านการตรวจคนเข้าเมืองและประเด็นที่เกี่ยวกับบุคคลสองสัญชาติ (3)ความร่วมมือด้านอาชญากรรมข้ามชาติ (4)ความร่วมมือว่าด้วยการโอนตัวนักโทษ (5)การทบทวนสนธิสัญญาว่าด้วยการส่งผู้ร้ายข้ามแดน (6)การทบทวนความตกลงว่าด้วยความร่วมมือชายแดน (7)การหาข้อสรุปบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการต่อต้านการค้ามนุษย์ และ(8)การหาข้อสรุปในกรอบความตกลงว่าด้วยการขนส่งสินค้าและผู้โดยสารข้ามแดนและผ่านแดนระหว่างไทยกับมาเลเซีย ทั้งนี้ ผู้นำไทยและมาเลเซียเห็นพ้องที่จัดการประชุมหารือประจำปีครั้งที่ 6 ที่ประเทศไทย

Comments