รองโฆษกฯ เผยรัฐบาลเตรียมนำ พ.ร.บ. กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท เสนอสภาผู้แทนราษฎร

รองโฆษกฯ ยืนยันรัฐบาลไม่มีนโยบายกู้เงิน 2 ล้านล้านบาท ไปทำถนนที่มีลักษณะเส้นเลือดฝอย


วันนี้ (25 มีนาคม 2556) เวลา 14.00 น. ณ ศูนย์แถลงข่าว ตึกนารีสโมสตร ทำเนียบรัฐบาล กรุงเทพ ร้อยโทหญิง สุณิสา เลิศภควัต รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี  ได้ชี้แจงถึงกรณีที่สภาผู้แทนราษฎร จะมีการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง วงเงิน 2 ล้านล้านบาทว่า รัฐบาลได้จัดเตรียมบัญชีแนบท้ายโครงการ โดยมีรายละเอียด 268 หน้า  ซึ่งจัดทำแล้วเสร็จในวันพรุ่งนี้ ก่อนการพิจารณาในวาระ 1  โดยรายละเอียดของเอกสารดังกล่าว จะมีชื่อและวัตถุประสงค์ของโครงการ รวมทั้งรายละเอียดเกี่ยวกับตัวเลขวงเงินโครงการ และแผนที่ประกอบแนบท้าย เมื่อเข้าสู่การพิจารณาในวาระที่ 2 กรรมาธิการจะมีการซักถามเกี่ยวกับโครงการต่าง  ๆ  กว่า 100 โครงการ


นอกจากนี้  ในร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวยังมีการระบุเส้นทางของโครงการที่ชัดเจนโดยเฉพาะรถไฟความเร็วสูง และระบุถึงเส้นทางที่จะดำเนินการ อาทิ เส้นทางกรุงเทพ-เชียงใหม่ กรุงเทพ-โคราช – หนองคาย กรุงเทพ-หัวหิน – ปาร์ดังเบซาร์  โดยเส้นทางทั้งหมดจะเชื่อมโยงระหว่างประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน  เพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในอนาคตอันใกล้นี้  อีกทั้ง โครงการก่อสร้างรถไฟรางคู่  เส้นทางมอเตอร์เวย์สายหลัก 3 สาย จะอยู่ในวาระที่จะนำเสนอต่อที่ประชุมด้วย

รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวยืนยันว่าเนื้อหาโครงการจะไม่มีการปรับเปลี่ยนเส้นทางแต่อย่างใด และไม่มีนโยบายที่จะนำเงินกู้ 2 ล้านล้านบาทไปใช้ทำถนนที่มีลักษณะเส้นเลือดฝอย หรือถนนสายเล็ก สายน้อย แต่การใช้เงินงบประมาณในโครงการนี้ จะนำไปสร้างถนนสายหลักที่สามารถเชื่อมโยงระหว่างภูมิภาคกับภูมิภาค หรือเชื่อมโยงด่านศุลกากรประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน จำนวน 41 ด่าน โดยถนนสายย่อยจะใช้เงินจากงบประมาณปกติของกระทรวงคมนาคมก่อสร้าง

สำหรับประเด็นที่มีและหลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่า ในช่วงระยะเวลา 50 ปีที่จะมีการทยอยชำระคืนเงินกู้ จะทำให้ประเทศไทยไม่มีความสามารถที่จะกู้เงินใด ๆ และเป็นการใช้เงินกู้ก้อนสุดท้ายของประเทศไทยนั้น รองโฆษกฯ ชี้แจงว่า ไม่เป็นความจริง เพราะตามปกติจะกำหนดอยู่ที่ 60 ของ GDP  แต่การดำเนินโครงการเงินกู้ดังกล่าว  รัฐบาลจะควบคุมให้มีการยืดหยุ่นของการคลังอยู่ที่ไม่เกินร้อยละ 50 ของ GDP  ดังนั้นจึงเหลือช่องว่างในการที่จะกู้เงินได้เพิ่มเติมหากมีความจำเป็นที่จะต้องเพิ่มเงินอีก และไม่ได้หมายความว่าการกู้เงินดังกล่าว จะกู้ภายในครั้งเดียวเพื่อนำมาดำเนินการโครงการ แต่จะกู้ภายใน 7 ปี ปีละประมาณ 3 แสนล้านบาท  ซึ่งถ้าเทียบกับการกู้เงินของรัฐบาลชุดก่อน จะเห็นได้ว่า ตัวเลขไม่ได้แตกต่างกัน โดย พ.ร.บ.นี้จะทำให้การก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานของประเทศมีความต่อเนื่อง และมีการกำหนดกรอบระยะเวลาที่มีความชัดเจน เพื่อให้นักลงทุนมีความมั่นใจว่าการลงทุนก่อสร้างของรัฐบาลจะมีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง



.................................................



กลุ่มยุทธศาสตร์และแผนการประชาสัมพันธ์ สำนักโฆษก

ชมพูนุช/รายงาน

Comments