รายการรัฐบาลยิ่งลักษณ์พบประชาชน



นายกรัฐมนตรีและคณะเดินทางเยือนประเทศนิวซีแลนด์และประเทศปาปัวนิวกินี พร้อมชี้แจงรายละเอียดการพิจารณาพระราชบัญญัติการกู้เงิน

(วันนี้ 30 มีนาคม 2556) เวลา 08.00 น. นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และนายวราเทพ รัตนากร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการรัฐบาลยิ่งลักษณ์พบประชาชน ผ่านสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย และสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย กรมประชาสัมพันธ์

ช่วงที่ 1

นายธีรัตถ์ รัตนเสวี (พิธีกร) : สวัสดีครับ นี่คือรายการรัฐบาลยิ่งลักษณ์พบประชาชน ตอนนี้เราอยู่กันที่ประเทศนิวซีแลนด์ ตั้งแต่ปลายสัปดาห์ที่แล้วจนถึงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ท่านนายกรัฐมนตรีและคณะได้เดินทางไปที่ประเทศนิวซีแลนด์และประเทศปาปัวนิวกินี การเดินทางมาครั้งนี้ได้เห็นอะไรกันบ้าง เราคุยกับท่านนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร ท่านนายกฯ สวัสดีครับ

นายกรัฐมนตรี : สวัสดีค่ะ

พิธีกร : ก่อนอื่นเราอยู่กันที่ฟาร์มโคนม ที่ประเทศนิวซีแลนด์ ท่านนายกฯ ได้เห็นการทำเกษตรที่ประเทศนิวซีแลนด์แล้วเป็นอย่างไรบ้าง และอยากจะฝากอะไรให้กับคนไทยบ้าง

นายกรัฐมนตรี : การทำการเกษตรที่นี่ เขาจะเน้นเรื่องของสภาพแวดล้อม ต้องเริ่มจากประชาชนคือผู้บริโภคจะคำนึงถึงเรื่องของสิ่งแวดล้อม การไม่ใช้สารพิษต่าง ๆ ให้ธรรมชาติปรับตัว นี่คือสิ่งที่ดีที่ทำให้พืชผลทางการเกษตรของเขาค่อนข้างที่จะคำนึงถึงคุณภาพ ดังนั้นอาหารที่เราจะส่งมาขายที่นี่ เขาก็จะต้องตรวจเรื่องของคุณภาพเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะประเทศไทยที่ส่งผลไม้ อย่างที่นี่เขามีกีวี่ก็จะเป็นผลไม้ที่ส่งออกเป็นจำนวนมาก ซึ่งสิ่งที่เรามาดูก็คือว่าพืชผลเกษตร พูดตั้งแต่เรื่องผลไม้ก่อน เขาจะทำอย่างไรให้ผลไม้เขาสดและอยู่นาน นี่คือเทคโนโลยีคือการนำเทคโนโลยีมาใช้ทางภาคการเกษตร หรือสินค้าต่าง ๆ เช่นการประมง เขาจะเน้นเรื่องของความสด ความสะอาด และมาตรฐาน ซึ่งสิ่งนี้ที่เราอยากจะนำเอาเทคโนโลยีต่าง ๆ มาปรับปรุง เราก็ได้มีโอกาสขอความร่วมมือทางด้านของภาครัฐที่ทางรัฐบาลนิวซีแลนด์ให้ความร่วมมือเรื่องความรู้ทางด้านเทคนิคให้กับเรา เช่น เรื่องของการเกษตร การประมง การปศุสัตว์ และสิ่งที่เราจะเน้นภาคการเกษตรคือการลงทุนสินค้าเกษตรแปรรูปมาอยู่ที่นี่ เพราะว่าที่นี่เขาก็มีวัตถุดิบ แต่รสชาติอาหารก็ต้องบอกว่านิยมอาหารไทย และน่าจะทำในเรื่องของการแปรรูป และการทำอย่างไรให้อาหารนั้นมีรสชาติต่าง ๆ มากขึ้นตลอดจนเรื่องของพลังงานสะอาด

พิธีกร : ถ้าเราดูในแง่มาตรฐานคุณภาพของที่นี่ เขามีการจัดการมาตรฐานอย่างไรให้สินค้าของประเทศนิวซีแลนด์ เมื่อส่งออกไปได้รับการยอมรับ แนวคิดแบบนี้จะมีการนำมาใช้ด้วยหรือไม่ว่านี่คือการตรวจคุณภาพ และได้รับการยอมรับไปทั่วโลก

นายกรัฐมนตรี : เรื่องนี้คงต้องนำมาใช้ เพราะว่าเราจะแก้แค่จุดเดียวไม่ได้ ฉะนั้นเราได้มีโอกาสพาเกษตรกรมาด้วย และทำเรื่องของสวนผลไม้มาด้วย เพื่อที่จะมาดูงานรวมถึงผู้ว่าราชการจังหวัดด้วย เพราะจริง ๆ แล้วต้องบอกว่าเราต้องช่วยกันพัฒนา เรามองเห็นโมเดลที่เรียกว่าประชาชน เอกชน และภาครัฐ ที่ต้องทำร่วมกัน เพราะการแก้ไขปัญหาสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ ไม่ได้แก้แค่จุดใดจุดหนึ่ง และต้องมาวางหลักคิดใหม่ทั้งหมดว่าจะทำอย่างไร สังเกตว่าหลาย ๆ อย่างของเรา สินค้าของเรา เช่นเรื่องของผลไม้ก็จะเห็นว่าผลไม้ของเราสามารถปลูกได้มาก ขณะเดียวกันผลไม้ที่ส่งออกมีจำนวนน้อย แต่ผลไม้ที่เหลือบริโภคภายในประเทศ คุณภาพ มาตรฐานต่าง ๆ ก็จะเห็นว่าทุกครั้งจะเจอภาวะราคาตก ผลไม้เสีย เราจะทำอย่างไรคือ 1. ผลไม้ที่มีอยู่มีคุณภาพที่สูงสามารถที่จะเป็นเกรดที่จะส่งออกได้มากขึ้น ได้มาตรฐานจากทั่วโลก เราจะได้นำของที่เหลือจากการผู้บริโภคในประเทศเพียงพอแล้ว ก็นำไปส่งออก หรือก็ต้องนำไปถนอมอาหาร และแปรรูปเป็นสินค้าแบบอื่นบ้าง ซึ่งตรงนี้เราคงต้องมาศึกษา ทดลอง วิจัย ปรับปรุงในส่วนนี้มากขึ้น

พิธีกร : ต้องเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชนรวมถึงเกษตรกรด้วย ที่จะต้องทำงานประสานกัน เพราะถ้าใช้เกษรตรกรไปลงทุนทำตั้งแต่ต้นน้ำคงจะลำบาก

นายกรัฐมนตรี : เห็นใจคะ บางรายอาจจะมีรายได้น้อย และไม่สามารถที่จะพัฒนาระบบได้ครบ ถ้าบางส่วนเราจะช่วยเหลือกันให้ส่งเสริมอุตสาหกรรมนี้ให้โตขึ้น เราน่าจะมีประสิทธิภาพมากกว่า

พิธีกร : นอกจากเรื่องของเกษตรแล้ว เรื่องของปศุสัตว์ เราอยู่ในฟาร์มโคนมที่นี่ให้ความสำคัญกับการทำผลผลิต เช่น วัวต่อตัวในเรื่องของการให้น้ำนมก็สูงมาก

นายกรัฐมนตรี : สูงคะ เพราะวัวต่อตัวให้น้ำนมประมาณ 25 ลิตร/ตัว/วัน ขณะที่ประเทศไทยเฉลี่ยประมาณ 10 กว่าลิตร ซึ่งตรงนี้ก็ถือว่า ถ้าเราไม่ต้องทำอะไรเลยราคาเราก็สูงกว่าเขาครึ่งหนึ่งแล้ว ซึ่งตรงนี้เราเองเราก็มองว่าเราจะมีปัจจัยอะไรบ้างที่จะต้องช่วยกันแก้ไข จึงมีโอกาสได้คุยกับทางด้านของสหกรณ์โคนม วันนี้ได้พามาหลายท่านก็เห็นว่าสิ่งที่เขาทำมาหลาย ๆ อย่าง ตั้งแต่เรื่องสภาพแวดล้อมเขาบอกว่าถ้าวัวจะได้ผลผลิตที่สูง เขาต้องได้รับบรรยากาศที่ดี อารมณ์ที่ดี คุณภาพแม่พันธุ์ที่ดี และเรื่องของอาหาร สิ่งแวดล้อมต่าง ๆ หลังจากที่ผลิตมาเป็นนมแล้วจะต้องมีการผ่านการตรวจสอบต่าง ๆ เรื่องของการฆ่าเชื้อต่าง ๆ ที่ต้องรักษาให้ดี ซึ่งมาดูที่นี่ก็ได้มีโอกาสสอบถามคือ เรื่องแรกเรื่องของระบบ ระบบที่ต่างกันคือ ถ้าไปดูในที่ที่เขาอยู่จะมีป้ายสีส้ม ๆ เขาจะมีการฝังชิพฯ จะบอกว่าพ่อพันธุ์ แม่พันธุ์มาจากไหน และให้ผลผลิตนมอย่างไร ทุกครั้งที่มีการเก็บนมวัวก็จะเก็บปริมาณจำนวนไว้ ฉะนั้นเราจะดูคุณภาพ ดูผลผลิตต่อตัวได้ตลอดเวลา

พิธีกร : ที่เหมือนกับว่าปัจจุบันนี้เวลาทำอาหารสามารถกลับไปยังต้นกำเนิดของแหล่งสินค้าได้ว่าอยู่ที่ไหน ซึ่งตรงนี้จะทำให้ผู้บริโภคและผู้ซื้อมีความมั่นใจ ในความปลอดภัยทั้งกระบวนการ

นายกรัฐมนตรี : ใช่ค่ะ อันนี้ไม่พอ แต่เก็บผลผลิตด้วย ดังนั้นเก็บผลผลิตจะรู้ว่า ถ้าสมมุติว่าพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ตัวนี้ไม่ให้ผลผลิตต่ำ เราต้องไปตรวจแล้ว และเราก็จะรู้ตลอดเวลาว่าคุณภาพนั้นเป็นอย่างไร ขณะที่บ้านเรามีหรือไม่ มีแต่เราไม่ได้ใช้ระบบคอมพิวเตอร์ เราใช้การจด เมื่อสักครู่ที่ถามทางด้านสหกรณ์เขาบอกว่าใช้การจดและกระดาษใช้แปะ ฉะนั้นอาจจะเกิดการคลาดเคลื่อนและทุกครั้งที่เก็บผลผลิตก็ใช้จากการจด ซึ่งโอกาสในการที่จะเก็บดูปริมาณต่าง ๆ ก็ยาก อันนี้คืออันที่ 1 ที่เราคิดว่าเราคงต้องมาพูดคุยว่าเราจะทำอย่างไรในการดูเรื่องระบบนี้ โดยเฉพาะฟาร์มเล็ก ๆ อันที่ 2 คืออาหารก็คือหญ้า อย่างบ้านเราเนื่องจากสถานที่ อาจจะไม่มีพื้นที่มากให้กับวัวได้กินหญ้าเองก็ต้องไปตัดหญ้าจากที่อื่น ซึ่งคุณภาพต่าง ๆ อาจจะไม่เท่ากัน เราก็หวังว่าหญ้าของเราเรียกว่าไฟเบอร์สูง ทำให้ขาดโปรตีน ซึ่งที่นี่ปลูกหญ้าไว้และให้วัวมากินเอง ตรงนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งที่คิดว่าเราคงต้องมาดูแล้วว่าคุณภาพหญ้าหรืออาหารทั่ว ๆ ไปจะทำอย่างไรให้อาหารนั้นออกมาให้เต็มที่ และสภาพแวดล้อมอีกเรื่องหนึ่งที่จะทำให้มีโอกาสในการที่จะให้วัวนั้นจะผลิตนมได้ดี ส่วนที่นี่เขาใช้คน ฟาร์มนี้มีวัวประมาณ 500 กว่าตัว ใช้คนแค่ 3 คน

พิธีกร : 3 คนในการจัดการทั้งหมดรวมถึงการรีดนมทุกอย่างเลยหรือไม่

นายกรัฐมนตรี : ใช่ค่ะ ขณะที่บ้านเราก็ใช้ประมาณ 30 คน แน่นอนอันนี้คือส่วนหนึ่งตั้งแต่เรื่องของเครื่องจักรในการที่จะผลิตน้ำนมวัว และการฝึกเขาจะมีการฝึกเป็นโซน ๆ ว่าวัวที่นี่ถึงเวลาวันนี้ต้องรีดแล้ว เขาก็จะพาไปรีด ซึ่งวัวของเขาจะเป็นระเบียบ เข้าแถวเดินกันมา เพราะเนื่องจากการรีดนมวัวที่นี่เขาจะให้รู้สึกว่าสบาย ซึ่งตรงนี้จะทำให้ผลผลิตน้ำนมมากขึ้น และไม่ต้องใช้คนในการจัดการมากขึ้น อันนี้เป็นสิ่งที่เราก็ดูแล้วเป็นข้อที่ดี เพราะที่ประเทศนิวซีแลนด์เขาจะเน้นในเรื่องของการปลูกฝัง การสอน การใช้หลักมากกว่า เมื่อวานก่อนเราไปดูเรื่องเดินป่า สิ่งที่เราไปดูคือว่าเขาจะสอนเด็กตั้งแต่เล็ก แทนที่เด็กจะเรียนแค่หนังสือในทฤษฎีว่าอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเป็นอย่างไร พาไปดูป่าจริง ๆ และฝึกให้เข้าใจ ฝึกให้รักต้นไม้ ไม่ตัดต้นไม้ ไม่ทิ้งขยะ และเขาก็จะปล่อยต้นไม้ให้แห้งไปเอง ไม่ไปตัดทิ้ง ระบบนิเวศ เช่นที่นอนของแมลงจิ้งหรีด ได้นอนได้พักให้ปลอดภัย ให้สิ่งแวดล้อมระบบนิเวศอยู่ร่วมกันได้นั้นเป็นสิ่งที่ดี

พิธีกร : เป็นการฝึกให้คนได้อยู่กับสิ่งแวดล้อมมาตั้งแต่กำเนิดก็ว่าได้

นายกรัฐมนตรี : ใช่ค่ะ ที่พิเศษกว่านั้นเรื่องของภาษีต่าง ๆ แทนที่จะเป็นแบบว่ารัฐจัดสรรงบประมาณอย่างเดียว เราก็จะมองเป็นภาระ แต่เขาจะเก็บจากภาษีที่ได้จากผู้ที่มีรายได้ เช่น ภาษีที่ดินต่าง ๆ ในส่วนนั้นนำเงินมาบำรุงเรื่องของสวนสาธารณะ เรื่องความเป็นสีเขียว สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ที่เราต้องร่วมกันตั้งแต่แนวคิด และเรื่องของการสอน ปลูกฝังเด็กรุ่นลูกรุ่นหลาน ในเรื่องของการศึกษาต่าง ๆ ให้เข้าสู่ค่านิยมที่ดี มีคุณภาพ ถูกต้อง อันนี้ก็เป็นส่วนที่ทำให้ทางประเทศนิวซีแลนด์เอง สภาพแวดล้อมของเขา คนของเขาก็จะเอื้อไปด้วยกัน

พิธีกร : เราได้เห็นการบริหารจัดการอย่างที่ท่านนายกฯ ได้ไปที่ arataki ที่เป็นอุทยานแห่งชาติ ตรงนั้นมีส่วนร่วมกับทางภาครัฐและเอกชนรวมถึงคนที่มาใช้บริการทุกคนช่วยกันดูแล เอกชนถึงแม้ว่าไม่ได้มาแต่มีการตั้งเป็นกองทุนมีการสนับสนุนทำให้ภาครัฐก็อาจไม่ต้องใช้งบประมาณมากนั้น ผู้ที่มาใช้บริการ อาสามัคร ผู้ใช้บริการไม่ต้องเสียเงิน แต่ว่าทุกคนมีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมที่ตัวเองมาใช้

นายกรัฐมนตรี : เขาจะไปเก็บจาก เช่น บริษัททัวร์ที่พามา หรือไปเก็บจากภาคเอกชนที่ช่วยเหลือกันเพื่อให้สิ่งแวดล้อมต่าง ๆ นี้ดีขึ้นก็กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ธรรมชาติด้วย

พิธีกร : ขณะเดียวกันสิ่งที่สำคัญคือการเล่าเรื่องให้เด็กหรือคนที่เข้ามา ให้ศึกษาอุทยานเหล่านี้จะต้องเข้าใจว่าต้นไม้นี้มีความสำคัญอย่างไร น้ำตรงนี้มีความสำคัญอย่าง เรียกว่า story telling ที่เราคุยกันมาหลายครั้งแล้ว

นายกรัฐมนตรี : ใช่ค่ะ เมื่อวานคุณธีรัตถ์ฯ ได้ฟังหรือไม่ที่เขาบอกว่าเห็นต้นไม้ต้นหนึ่งบอกว่าตอนเล็กเป็นอย่างไร และพอต้นไม้ตัดแล้วโตขึ้นมา ธรรมชาติจะปรับอย่างไรก็จะทำให้เรื่องน่าสนใจ เด็กก็จะรู้สึกว่าตื่นเต้นและจดจำ เข้าใจถึงธรรมชาติของต้นไม้

พิธีกร : เมื่อคนในประเทศนิวซีแลนด์รักธรรมชาติมาก เขาใส่ใจเรื่องคุณภาพชีวิตของเขา ต้องยอมรับว่ามาตรฐานในแง่ของสินค้าที่จะมาขายในประเทศนี้ค่อนข้างที่จะเข้มงวด และท่านนายกฯ มองหรือไม่ว่าถ้าเรามีการยกระดับมาตรฐานสินค้าของเราให้เทียบเท่ากับประเทศนิวซีแลนด์ให้ได้จะเป็นโอกาสอันดีให้กับสินค้าของเรา ในการเพิ่มมูลค่าด้วย

นายกรัฐมนตรี : แน่นอนค่ะ เพราะว่าอย่างแรก ถ้าเรายกระดับคุณภาพสินค้าของเราไม่ได้เพียงแต่ว่าเราจะขายที่ประเทศนิวซีแลนด์ได้ เราก็จะขายที่อื่น โดยเฉพาะทางสหภาพยุโรป (EU) และมูลค่าเพิ่มก็จะเห็นหลายอย่าง เช่นบ้านเราทำเกษตรอินทรีย์ สินค้าต่าง ๆ ที่อนุรักษ์สามารถขายได้ราคาสูงจริง ๆ แต่เราไม่ได้ประชาสัมพันธ์หรือโปรโมทในส่วนนี้ให้มีการขยายมากขึ้น ส่วนนี้ก็จะขายได้คุณภาพที่สูง และคนก็พอใจที่จะจ่ายกลุ่มที่มีใจที่อยากจะได้สิ่งที่มีแต่คุณภาพ โอกาสตรงนี้ก็สูงมากขึ้น ขณะเดียวกันก็เป็นสิ่งที่ดี เพราะถ้าเราได้สินค้าที่มีคุณภาพเด็กหรือรุ่นลูกของเราได้ทานก็จะทำให้มีคุณภาพด้วย สุขภาพดีด้วย พัฒนาการต่าง ๆ ดีด้วย นี่ถือว่าเป็นสิ่งที่ควบคู่กันไป เราคิดว่าถึงเวลาแล้วที่เราคงจะมาร่วมกัน ดิฉันเองก็มองว่าน่าจะเห็นการร่วมมือกันทั้งเอกชนและชุมชน เพราะถ้าต่างคนต่างทำ ดิฉันเชื่อว่าแรงแข็งขันไม่พอ ถ้าทำ 3 ส่วนนี้น่าจะแข็งแรงพอ

พิธีกร : ซึ่งภาคเอกชนที่ได้มาร่วมกับคณะของท่านเห็นประเทศนิวซีแลนด์ เขาอยากจะกลับไปปรับปรุงตัวอย่างไรบ้าง

นายกรัฐมนตรี : มีค่ะ มีหลายอย่างในแง่ของการบริหารจัดการก็น่าจะเห็นในเรื่องของวิธีการบริหารจัดการที่ดี เรื่องของการใช้จำนวนคน ซึ่งเราจะได้นำจำนวนคนที่มีอยู่ไปเพิ่มผลผลิตได้มากขึ้น และบางอย่างก็จะมีความร่วมมือ ความช่วยเหลือจากภาครัฐ เช่น เรื่องขอระบบต่าง ๆ ในการที่จะเอื้อให้กับทางสหกรณ์เรื่องของระบบซอฟต์แวร์ต่าง ๆ ดิฉันเองก็มองว่าเป็นสิ่งที่น่าสนใจก็คงจะขอความร่วมมือจากประเทศนิวซีแลนด์ เขายินดีที่จะให้ข้อมูลทางวิชาการที่จะไปพูดคุยกัน และมาดูว่าจะปรับอย่างไรให้เข้ากับสภาพแวดล้อมของประเทศไทย

พิธีกร : การเดินทางมาเยือนของท่านนายกรัฐมนตรี มากระชับความสัมพันธ์ 57 ปีของไทยกับประเทศนิวซีแลนด์

นายกรัฐมนตรี : 9 ปีที่ห่างจากการมาเยือน

พิธีกร : ไม่มีนายกรัฐมนตรีไทยมาเยือนประเทศนิวซีแลนด์

นายกรัฐมนตรี : ใช่ค่ะ

พิธีกร : ตรงนี้ถ้าเรามองประเทศนิวซีแลนด์ไม่ใช่เมืองเกษตรกรรม แต่ว่าประชาชนมีกำลังซื้อสูง เขาเป็นนักท่องเที่ยวสำคัญของประเทศไทยด้วย คนไทยเองสามารถต้อนรับชาวนิวซีแลนด์ที่ไปประเทศไทย เพราะว่าเกษตรกรเหล่านี้เขามีเงินจับจ่ายใช้สอยไปพักผ่อนในประเทศไทย เขามีการพูดคุยถึงการกระชับความสัมพันธ์ด้านการท่องเที่ยวระหว่างกัน

นายกรัฐมนตรี : ตรงนี้มีคนนิวซีแลนด์ไปเที่ยวเมืองไทยประมาณแสนคน  เราเองมองว่าน่าจะมีส่วนกระชับความสัมพันธ์นี้มากขึ้นโดยเฉพาะการท่องเที่ยวได้หลายอย่าง คือท่องเที่ยวได้เห็นเมืองไทยที่ดี และวันนี้ประเทศนิวซีแลนด์ชื่นชอบอาหารไทยมาก จะเห็นว่าร้านอาหารที่ชอบมากที่สุดคืออาหารไทย ตรงนี้เป็นจุดหนึ่งที่ดึงนักท่องเที่ยวมา ขณะเดียวกันนักศึกษาของไทย เขาให้การดูแลอย่างดีเพราะเขามีความผูกพันกับคนไทย เรามีนักศึกษาที่ไปเรียนประมาณ 3,000 คนต่อปี

พิธีกร : ที่เป็นคนไทยมาเรียนที่ประเทศนิวซีแลนด์  มีตั้งแต่ระดับประถมจนถึงปริญญาเอก

นายกรัฐมนตรี : ไปถามผู้ปกครองบางท่านทำไมถึงมาเรียนที่ประเทศนิวซีแลนด์ เขาบอกว่าสภาพแวดล้อมที่เด็กมาเรียนจะรู้สึกปลอดภัย หลักสูตรการศึกษาจะสอนหลักคิดมากกว่าเรื่องทฤษฎีเขาสอนให้เด็กรู้จักคิด

พิธีกร : ไม่ใช่การท่องจำธรรมดา

นายกรัฐมนตรี : ใช่ค่ะ ตรงนี้เป็นแนวคิดที่ปลูกฝัง จะเห็นสิ่งที่เขาปลูกฝังคนของเขา เรื่องอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ธรรมชาติต่าง ๆ เป็นหลักคิดหลักใหญ่เป็นจุดดีจุดหนึ่ง ที่นักเรียนไทยที่มาเรียนที่นี้

พิธีกร : เห็นว่าท่านนายกรัฐมนตรีได้คุยกับท่านนายกรัฐมนตรีจอร์น คีย์ ในการที่จะอำนวยความสะดวกวีซ่าให้กับคนไทย เห็นว่าทางประเทศนิวซีแลนด์รับไปแล้วเช่นกัน

นายกรัฐมนตรี : ปัญหาที่เราได้ขอไปเรื่องใหญ่ ๆ ที่ติดอยู่ คือ การขอยกเว้นเรื่องวีซ่า อำนวยความสะดวกเรื่องวีซ่าให้กับเราอีกส่วนหนึ่งคือ สินค้าทางการเกษตรที่เรามีความร่วมมือกัน ที่ยังค้างคามานานถึง 9 ปี คงต้องมาพูดคุย สินค้าบางตัวเราจะมีเหมือนเขา จะทำอย่างไรให้เกิดประโยชน์กันทั้งสองฝ่ายรวมถึงความร่วมมือทางวิชาการ โดยเฉพาะการศึกษาที่เราคงต้องมีเรียกว่า Networking  ระหว่างมหาวิทยาลัยต่อมหาวิทยาลัยซึ่งจะได้ประโยชน์ในเรื่องส่งนักเรียนมาเรียน ระหว่างนักเรียนไทยมาเรียนที่ประเทศนิวซีแลนด์และนักเรียนประเทศนิวซีแลนด์มาเรียนที่ประเทศไทย ด้านครูเราต้องการคนที่พูดภาษาอังกฤษค่อนข้างมาก เพื่อที่จะมาเสริมให้กันคนไทยรวมถึงรองรับถึงประชาคมอาเซียน

พิธีกร : งานครั้งนี้ได้มีการลงนามความร่วมมือทางด้านการศึกษาที่ทำให้ความร่วมมือใกล้ชิดกันมากขึ้น

นายกรัฐมนตรี : รวมถึงพลังงาน และเรื่องของงานวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์อยู่ในเหตุการณ์นี้ในความร่วมมือนี้ด้วยเพื่อเราจะได้นำเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่เขามีมาแลกเปลี่ยนกับประเทศไทย ที่จะประชุมนำไปสู่การยกระดับมาตรฐานประเทศไทยเช่นกัน

พิธีกร : นอกจากนี้รวมถึงการที่จะหาทาง ทำให้การค้าระหว่างกันมีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น  แสดงว่าต้องมีการตั้งเป้าด้วยว่าภายในปี 2020 จะเพิ่มมูลค่าการค้าให้ได้อีกเท่าตัว ต่างคนต่างหาทางซึ่งกันละกัน และในขนาดนี้แต่ละคนอาจจะมีการลงนามไปแล้ว มูลค่าการซื้อขายอาจจะไม่มากนัก วันนี้ดูว่าภาคเอกชนทำอะไรได้บ้าง

นายกรัฐมนตรี : ตรงนี้คงเป็นส่วนหนึ่งที่จะได้มี  Networking  และเราหวังว่านายกรัฐมนตรีประเทศนิวซีแลนด์จะกลับไปเยือนประเทศไทย

พิธีกร : นี่คือของที่เป็นฝีมือของคนที่นี่อย่างไรบ้าง ท่านนายกฯมองว่าเป็นอย่างไรบ้าง

นายกรัฐมนตรี : จริง ๆ แล้วมองว่าเขามีฝีมือในเรื่องการแกะสลักไม้ และสะท้อนถึงวัฒนธรรมแต่ละชนเผ่า เพราะที่นี่มีภาษาใช้ทั้งหมด 800 ภาษา  ถามว่าสื่อสารอย่างไรเขาบอกว่าสื่อสารเป็นภาษาอังกฤษและภาษาของชาวปาปัวนิวกินี ที่เหลือแล้วแต่ตามถิ่น ซึ่งตรงนี้เจ้าหน้าที่บอกว่าเป็นการสะท้อนถึงชนเผ่า บางที่ที่ติดกับเขามีความรู้สึกว่าเข้มแข็ง  อยู่ติดกับทะเลจะมีความอ่อนไหว  ซึ่งตรงนี้คล้าย ๆ ศิลปะบ้านเราในแต่ละภาคเหมือนกัน แต่เขาจะมีความหลากหลายมากกว่า

พิธีกร : ที่นี่เขามีความเชี่ยวชาญเรื่องงานไม้ ประเทศเขาส่งออกไม้มากด้วย

นายกรัฐมนตรีฯ : สิ่งที่เขาต้องการขอความร่วมมือจากประเทศไทย คือทางด้านเทคโนโลยีต่าง ๆ ความรู้ที่เรามี ดิฉันมีโอกาสได้เล่าว่าเราพัฒนาสินค้าชุมชนมาอย่างไร เขามีความสนใจ รวมถึงเรื่องของการประมง เรื่องการใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ เพื่อที่จะทำให้อาหารต่าง ๆ น่ารับประทานมากขึ้น เป็นหลาย ๆ อย่างในความร่วมมือที่เขาอยากจะได้ความร่วมมือจากเรา

พิธีกร : ซึ่งพอท่านนายกฯ มาเห็นว่าเขาขอความร่วมมือเรื่องการท่องเที่ยวด้วย

นายกรัฐมนตรีฯ : ใช่ค่ะ เพราะว่าเรื่องการท่องเที่ยวก็ได้มีโอกาสหารือกับท่านนายกรัฐมนตรี ซึ่งท่านบอกว่ามีเกาะหนึ่งที่น่าสนใจ ที่ห่างจากที่นี่ไป ประมาณ 50 นาที เป็นเกาะใหม่ เรียกว่า New Ireland เป็นที่ที่ดำน้ำที่สวยที่สุดในโลก  มีโอกาสไปเจอวันหลังคงใช้สถานที่ต่าง ๆ เป็นตัวเชื่อมเรื่องของการท่องเที่ยว ซึ่งทางประเทศปาปัวนิวกินีมีความประทับใจว่าประเทศไทยเป็นจุดที่เรียกว่า เป็นจุดที่หลาย ๆ ประเทศให้ความสนใจและจำนวนนักท่องเที่ยวเราเพิ่มขึ้นมาก  เขาต้องการขอความร่วมมือที่จะนำเอาความรู้ต่าง ๆ ประสบการณ์ที่เรามีทำอย่างไรให้ส่งเสริมการท่องเที่ยวระหว่างกัน ซึ่งทางประเทศปาปัวนิวกินียินดีต่ออีกว่า ยินดีที่จะอำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยวเราด้วย

พิธีกร : New Ireland ที่พูดถึงคนไทยชื่นชอบการดำน้ำและจะดำน้ำสะดวกมากขึ้น  มีการขอการบินไทยมาหรือไม่

นายกรัฐมนตรี : มีขอ เพราะทุกวันนี้เราไม่มีไฟล์ทบินตรงมาที่นี่  และเป็นเมืองที่ประเทศอื่นเขาอยากเห็น ฉะนั้นบินตรงมาที่นี่เพื่อเพิ่มนักท่องเที่ยว และนอกจากสถานที่ดี ๆ แล้ว เรื่องการแพทย์การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เราค่อนข้างดีซึ่งวันนี้เขาไปรักษาที่ประเทศอื่น  เราบอกว่าประเทศไทยสามารถรองรับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพได้  และการเข้ามารับการรักษาสุขภาพในประเทศไทยด้วย

พิธีกร : ได้มีการยกย่องท่านนายกรัฐมนตรีเป็นบุคคลต้นแบบของผู้หญิงที่มีการพัฒนาขึ้นเรื่อย ๆ

นายกรัฐมนตรี : จริง ๆ ไม่ใช่แบบนั้นค่ะ จริง ๆ แล้วผู้หญิงไม่ค่อยมีบทบาทมากนักซึ่งเราจะเห็นว่าในคณะรัฐมนตรีเขาจะมีผู้หญิงเป็นผู้หญิงแค่คนเดียวจำนวนผู้หญิงที่เป็นจำนวนวุฒิสภาผู้แทนราษฎรยังไม่มาก คงอยากจะเห็นโอกาสนี้ที่จะให้ผู้หญิงได้เข้ามามีบทบาทเพิ่มขึ้นทั้งเรื่องของการทำงาน  ประกอบอาชีพ  บทบาททางสังคม และการเมือง

พิธีกร : ท้ายที่สุดแล้วที่เรามา ประเทศปาปัวนิวกินี ประเทศไทยมีโอกาสกับประเทศนี้มากหรือไม่

นายกรัฐมนตรี : อย่างแรกในเรื่องของการเกษตร จริง ๆ แล้วที่นี้มีเกษตรและประมง  ซึ่งเราอาจจะทำในรูปของเกษตรแปรรูปหรือว่าเรื่องการส่งออกได้ โอกาสหลักคือที่นี้มีสิทธิพิเศษทางภาษีที่จะส่งออกไปยังกลุ่ม EU ส่วนนี้จะเป็นตลาดใหม่ของเราที่จะสามารถพัฒนาในเรื่องของการ Trading หรือว่าการค้าที่จะส่งออกสินค้าจากไทยไปยังประเทศที่สาม รวมถึงเรื่องปลาทูน่า เรื่องกุ้ง ที่เราจะทำเป็นสินค้าแปรรูป เกษตรแปรรูปได้  รวมถึงพลังงานที่นี้มีพลังงาน ก๊าซธรรมชาติค่อนข้างสมบูรณที่พึ่งค้นพบตรงนี้ถือเป็นโอกาสอย่างหนึ่งของบริษัทเอกชนไทยที่จะได้มาลงทุนค่ะ

พิธีกร : เอกชนที่จะมานอกเหนือจากพลังงาน เห็นว่าโครงสร้างพื้นฐานของประเทศที่เราจะพัฒนาด้วย เป็นการเชิญชวนให้คนไทยที่จะลงทุนมองหาลู่ทางที่จะขยายการลงทุน

นายกรัฐมนตรี : โดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐานที่ต้องพัฒนา คงต้องเป็นกลุ่มเรื่องธุรกิจก่อสร้างซึ่งต้องการกำลังและผู้ที่ทำงานทางด้านการก่อสร้างมาก เพราะเขามีงบประมาณที่จะทำตรงนี้ ต้องการที่จะมีความชำนาญต่าง ๆ มากขึ้น

พิธีกร : ซึ่งท่านนายกฯ เป็นนายกรัฐมนตรีไทยคนแรก เป็นระดับสูงคนแรกของประเทศไทย ที่เดินทางมาเยือนประเทศปาปัวนิวกินี

นายกรัฐมนตรี : เรารู้สึกภูมิใจที่เขาให้การต้อนรับอย่างดีมากจริง ๆ เขาเห็นความสำคัญของไทย และท่านนายกรัฐมนตรีประเทศปาปัวนิวกินีจะหาโอกาสไปเยือนที่ประเทศไทยอีก

พิธีกร :  เห็นว่าจะมีการพบปะทุก ๆ ปีในการประชุมร่วมกันระหว่างประเทศไทยกับประเทศปาปัวนิวกินีด้วย

นายกรัฐมนตรี : เขาจะขอว่าให้มีคณะทำงานในการที่จะจัดพบปะหารือซึ่งจะรวมเอาเรื่องที่ได้หารือในวันนี้ทั้งหมด ไปพูดคุยกันเพื่อที่จะให้ต่อเนื่องเป็นรูปธรรม

พิธีกร : ท้ายที่สุดแล้วที่นี่จะเป็นโอกาส ๆ หนึ่งในการทำธุรกิจก้าวไปพร้อมกับประเทศปาปัวนิวกินีด้วย

นายกรัฐมนตรี : อย่างไรก็ตาม ขอเชิญท่านผู้ชมถ้ามีโอกาสสามารถแวะมาชมได้ ที่นี่เป็นอีกสีสันหนึ่งและเป็นโอกาส ๆ หนึ่งที่จะได้ค้นพบกัน

พิธีกร : ขอขอบคุณท่านนายกรัฐมนตรีมากครับ

ช่วงที่ 2

พิธีกร : กลับสู่ช่วงที่ 2 ของรายการรัฐบาลยิ่งลักษณ์พบประชาชาชน ผมนายธีรัตถ์ รัตนเสวี การพิจารณาพระราชบัญญัติทางด้านกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อใช้ในการลงทุนการสร้างพื้นฐานทางด้านการขนส่งของประเทศอาจจะมีบางข้อที่หลายคนเป็นข้อสงสัยอยู่ซึ่งคนที่จะมาให้รายละเอียดและตอบข้อสักถามที่ดีที่สุดคนหนึ่งก็คือท่านวราเทพ รัตนากร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สวัสดีครับ

นายวราเทพฯ : สวัสดีครับ

พิธีกร : เรียนถามว่าในการพิจาณา ในประชุมสภาฯ ช่วง 2 วันที่ผ่านมามีการตั้งคำถามว่า การที่รัฐบาลออกพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เงินกู้ 2 ล้านล้านบาท ตรงนี้มันขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 169 หรือไม่

นายวราเทพฯ : ยืนยันอีกครั้งไม่ขัดแน่นอน ที่บอกว่าไม่ขัดแน่นอน เนื่องจากว่าเราก็ปฏิบัติตามแนวทางตามที่ดำเนินการมาโดยตลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องกับมาตรานี้ ประเด็นนี้เป็นรัฐธรรมนูญซึ่งเขียนมาตั้งแต่ปี 2492 ใช้มาโดยตลอดข้อความเดียวกันจนกระทั่งรัฐธรรมนูญ 2540 หรือแม้กระทั้งรัฐธรรมนูญปีปัจจุบัน 2550 ก็ไม่ได้มีแก้ไขข้อความใด ๆ ในเรื่องนี้เลย และในกรณีที่มีการออกพระราชบัญญัติหรือพระราชกำหนดเกี่ยวกับการกู้เงินที่ผ่านมาเป็นสิบ ๆ ฉบับ ตั้งแต่เรื่องของพระราชบัญญัติว่าด้วยเรื่องการกู้เงินมาเพื่อพัฒนาประเทศ ในสมัยโบราณ เช่นการสร้างเขื่อน การสร้างถนนใหญ่ๆ ก็ดำเนินการในลักษณะเดียวกัน เพราะฉะนั้นเราถือแนวปฏิบัตินี้และสิ่งที่เรามั่นใจก็คือก่อนหน้าที่เราจะพิจารณาพระราชบัญญัติฉบับนี้ มีพระราชกำหนดและพระราชบัญญัติ สมัยรัฐบาลที่แล้วก็คือพระราชกำหนดและพระราชบัญญัติที่กู้เงิน 4 แสนล้าน บวก 4แสนล้าน หรือที่เรียกว่าโครงการไทยเข้มแข็ง อะไรก็แล้วแต่ก็ได้มีการหารือไปยังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งคณะกรรมการกฤษฎีกาคณะที่ 12 ท่านก็ได้มีดุลวินิจฉัยให้คำปรึกษามาว่าการจ่ายเงินกู้นี้ไม่ใช่เป็นการจ่ายเงินที่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 169 ว่าด้วยเรื่องการจ่ายเงินแผ่นดิน เป็นกฎหมายเฉพาะแยกกันต่างหาก เพราะฉะนั้นไม่ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญแน่นอน

พิธีกร : แต่ว่าถ้าเกิดมีกลุ่มคนที่บอกว่าจะยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญ รัฐบาลจะทำอย่างไรครับ

นายวราเทพฯ : ตรงนั้นก็เป็นสิทธิแต่ก็คงต้องรอจนกว่ากฏหมายฉบับนี้ผ่านรัฐสภาฯ เสียก่อนก่อนที่จะไปดำเนินการตามขั้นตอน ที่มีผลประกาศใช้เป็นกฏหมายหรือนำกราบบังคมทูล สามารถที่จะยื่นไปยังศาลรัฐธรรมนูญและศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้ ผมก็เชื่อมั่นว่าศาลรัฐธรรมนูญคงจะได้พิจารณาและได้ให้ความตรงไปตรงมากับการวินิจฉัยในเรื่องนี้

พิธีกร : ประชาชนยังคงสงสัยอยู่ว่า ทำไมรัฐบาลไม่ใช้งบประมาณปกติ ทำไมต้องออกเป็น พ.ร.บ. เงินกู้และทำไมจะสร้างภาระให้กับประชาชนไปยาวนานถึง 50 ปีด้วย

นายวราเทพฯ : ต้องเรียนว่าโครงการนี้ ไม่ใช่เป็นโครงการที่ขนาดเล็ก หรือเป็นโครงการขนาดที่มีลักษณะที่ไม่มีแผนไม่มียุทธศาสตร์เรากำลังพูดถึงการพลิกโฉมประเทศ ด้วยการเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง ด้านคมนาคมขนส่งที่เป็นระบบที่เปลี่ยนแปลงไปโดยสิ้นเชิง ก็คือยกระดับถนนมาเป็นระบบราง ประหยัดในเรื่องพลังงาน งบประมาณจะต้องมีการลงทุน มีแผนการเงินที่ชัดเจน การเอาไปใส่ไว้ในงบประมาณปกติก็คงจะได้เห็นว่าที่ผ่าน ๆ มา ถึงแม้เราบอกว่าสามารถทำงบประมาณก่อนหนี้ผูกพันธ์ได้ มันก็ไม่มีความแน่นอนหรอกที่บอกว่าในแต่ละปีเราเคยทำถนน 4 เลนว่าจะให้ตลอดภายใน 200 กิโลเมตรนี้ ภายใน 3-5 ปี แต่ที่ผ่านมามันจะสะดุดหยุดลงด้วยหลาย ๆ ด้าน การผันผวนทางการเมือง ความไม่แน่นอนที่นโยบายแต่ละรัฐบาลที่จะเข้ามา หรือความจำเป็นที่จะต้องนำเงินไปใช้ในด้านอื่น ๆ แต่ว่าถ้าหากเราออกมาเป็นพระราชบัญญัติเงินกู้ในครั้งนี้มันจะเกิดความแน่นอนว่าได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง และสามารถที่จะสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนว่าแผนการลงทุนที่จะไปสร้างรถไฟความเร็วสูง รถไฟรางคู่ในแต่ละจุดนี้ นักลงทุนเอกชนพี่น้องประชาชนเกิดความมั่นใจ

พิธีกร : คือเห็นภาพชัดเจนว่าจะไม่มีการเปลี่ยนแปลง เพราะถ้าเกิดไปอยู่ในงบประมาณปกติก็อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงระหว่างทางได้ และโครงการเหล่านั้นอาจจะไม่เสร็จ

นายวราเทพฯ : อีกประเด็นหนึ่งก็คืองบประมาณปกติเป็นเรื่องยากที่จะใส่โครงการขนาดใหญ่ในงบประมาณปกติที่เป็นงบลงทุนเพิ่มไป ฝ่ายค้านพยายามบอกว่าเราสามารถที่จะทำงบขาดดุลในเรื่องนี้ได้ แต่ผมเรียนยืนยันว่าฝ่ายค้านเองก็เรียกร้องว่าอยากจะให้มีโครงการในเรื่องการศึกษาเรื่องสาธารณสุขด้วย ตรงนั้นที่กำลังจะตอบปัญหาคำถามของฝ่ายค้านว่าเราเหลือพื้นที่ไม่เอาเรื่องนี้ไปใส่ไว้ในนั้น เพราะว่าเราต้องมีเรื่องสาธารณสุข เรื่องการศึกษา เรื่องการพัฒนาคน เรื่องต่าง ๆ ที่จะต้องอยู่ในงบประมาณปกติ

พิธีกร : แต่ก็มีการตั้งข้อสังเกตเช่นกันว่าการทำ พ.ร.บ. ฉบับนี้มีบัญชีแนบท้าย แต่ว่ารายละเอียดโครงการอาจจะยังไม่เห็นมีความชัดเจนมากนักก็เลยเป็นการมองว่านี่เป็นการตีเช็คเปล่าหรือไม่ ให้อำนาจพอผ่านสภาฯ รัฐบาลก็จะดำเนินการโครงการตามใจชอบได้หรือไม่

นายวราเทพฯ : ไม่ได้แน่นอน คือการบอกว่าเป็นการออกพระราชบัญญัตินี้เป็นการตีเช็คเปล่า นั่นก็พูดไม่ตรงแล้ว พระราชกำหนด พระราชกำหนดที่ผ่านมา พระราชกำหนดไทยเข้มแข็งนี้ มีเพียงเอกสารที่เรียกว่าเป็นมาตราและไม่มีโครงการรายละเอียดใด ๆ ให้สภาฯ พิจารณา รัฐบาลเลือกที่จะออกมาเป็นพระราชบัญญัติเพราะรัฐบาลเห็นปัญหานั้นแล้วว่าสภาฯ นี้รับไม่ได้กับการที่จะไปขออนุมัติขอเงินกู้ ไม่ว่าจะเป็น 4 แสนล้าน หรือว่า 2 ล้านล้านบาทนี้ก็เงินเหมือนกันเงินจำนวนมากมหาศาล เพราะฉะนั้นแล้วรัฐบาลจึงเลือกที่จะออกมาเป็นพระราชบัญญัติ เพื่อที่จะให้สภาฯ ได้พิจารณาในรายละเอียด และก็มีการแปรญัตติได้ ก่อนที่จะให้ความเห็นชอบได้พิจารณาอย่างถี่ถ้วน ในสิ่งที่รัฐบาลทำบัญชีแนบท้ายเข้าไปนั้นเป็นหลักประกันว่าการจะแก้ไขใด ๆ โดยรัฐบาลหรือฝ่ายบริหารนี้ไม่สามารถทำได้ เนื่องจากบัญชีท้ายพระราชบัญญัตินี้เรากำหนดยุทธศาสตร์ว่าแผนงานที่จะดำเนินการ ก็คือเรื่องของการคมนาคมขนส่ง และการคมนาคมขนส่งก็ระบุชัดเจนว่ามีเรื่องอะไรบ้าง ในนั้นไม่มีเรื่องทางอากาศ ถามว่าเรื่องทางอากาศทำไมไม่มี เพราะเราคิดว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ว่าการท่าหรือการบินไทย เขาสามารถที่จะมีเงินรายได้ของเขามาพัฒนา

พิธีกร : ที่เราพูดถึงการขยายสุวรรณภูมิหรือภูเก็ตก็คือใช้เงินของ ทอท. หรือการบินไทยไปร่วมได้

นายวราเทพฯ : จึงไม่จำเป็นต้องอยู่ในพระราชบัญญัติเงินกู้ฉบับนี้ ดังนั้นเมื่อผ่านสภาเป็นพระราชบัญญัติและก็ไปกู้เงินแล้วอยู่ ๆ วันดีคืนดีรัฐบาลจะเลือกไปเปลี่ยนแปลงโดยพลกาลไม่ได้แน่นอน ต้องเป็นไปตามบัญชีท้ายพระราชบัญญัติ ถามว่าบัญชีท้ายพระราชบัญญัตินั้นมีรายละเอียดเพียงพอหรือไม่ ก็ต้องบอกว่ามีกรอบที่ค่อนข้างชัดเจนแล้วก็มีเม็ดเงินในแต่ละหมวด ในแต่ละยุทธศาสตร์ ว่ายุทธศาสตร์แต่ละด้านมีเม็ดเงินเท่าไร ถามว่าแล้วรายละเอียดแต่ละโครงการอยู่ที่ไหน อยู่ในเอกสารประกอบซึ่งเป็นเอกสารที่ได้แจกให้สภาฯ ได้พิจารณาอาจจะดูเหมือนว่าน้อย 300 กว่าหน้า แต่ว่าเป็นเอกสารที่มีครบทุกโครงการ ส่วนโครงการย่อย ๆ ในชั้นกรรมาธิการวิสามัญจะมีการเรียกเอกสารมาพิจารณากันแต่ละรายการ ซึ่งมีเอกสารอีกจำนวนเป็นพัน ๆ เป็นหมื่น ๆ แผ่น เหมือนกับวิธีการพิจารณางบประมาณปกติ ฝ่ายค้านมองว่าอยากจะให้เอาเอกสารนี้ไปไว้ใน พ.ร.บ. เลย ซึ่งจริง ๆ แล้วถ้าเราทำได้เราทำ แต่มันจะเกิดปัญหา ปัญหาที่จะตามมาก็คือว่าการทำโครงการต่าง ๆ ถ้าเราเอาเอกสารจำนวนวงเงินหลักที่เรียกว่ามีเศษเป็นหลักสิบ หลักหน่วย ถ้าหากมีการประมูลจัดซื้อ จัดจ้างมีการดำเนินการอย่างไรก็ตาม หรือมีการเปลี่ยนในรายละเอียดเพียงเล็กน้อยแม้แต่บาทเดียว ซึ่งต่างไปจากที่เอาเอกสารที่ไปอยู่ในกฎหมายต้องไปขออำนาจสภาฯ เราก็จะทำงานกันไม่ได้ ก็จะต้องไปขออำนาจสภาฯกันตลอดเวลาเช่นเดียวกับ พ.ร.บ. งบประมาณประจำปีปกติก็ไม่ได้บรรจุเอกสารของแต่ละหน่วยงานเข้าไปอยู่ข้างในเป็นเพียงเอกสารประกอบ แต่จะต้องไปเทียบเคียงหรือว่าล้อกับตัวยอดเงินแต่ละยอดอยู่ในนั้น ก็อยากจะเรียนยืนยันว่าไม่ได้เป็นการตีเช็คเปล่า ไม่ได้เป็นการเปลี่ยนแปลงได้ด้วยตัวเอง การเปลี่ยนแปลงจะต้องยึดโยงกับบัญชีแนบท้ายและที่สำคัญที่สุดถ้าใครก็ตามมาเป็นรัฐบาลแล้วเปลี่ยนแปลงตามอำเภอใจ เลือกโครงการนี้เข้าโครงการนั้นออก ผมว่าประชาชนหรือว่าสภาฯ เขาก็มีเอกสารเล่มนี้อยู่เขาคงไม่ยอมปล่อยให้ไปดำเนินการอย่างไรตามใจชอบอย่างแน่นอน

พิธีกร : แต่เมื่อผ่านจากวาระแรกไปแล้วในแง่ของชั้นกรรมาธิการจะสามารถไปปรับเปลี่ยนรายละเอียดเพิ่มเติมได้อีกไหมครับ

นายวราเทพฯ : ในรายละเอียดของกรรมาธิการสามารถทำเช่นเดียวกับการแปรญัตติกฎหมายทั่วไป บัญชีแนบท้ายก็เป็นบัญชีที่เราถือว่าเป็นกฎหมาย เพราะฉนั้นถ้าหากว่าต้องการแปรญัตติเปลี่ยนแปลง ผมยกตัวอย่างเช่น เอาละครับพูดถึงประเด็นการเมืองบอกว่าฝ่ายค้านไม่ต้องการให้รถไฟความเร็วสูงไปจังหวัดเชียงใหม่ ผมยกตัวอย่างเพราะว่าอาจจะบางคนพูดบอกว่าจังหวัดเชียงใหม่ยังไม่จำเป็น เขาก็สามารถที่จะแปรญัตติในส่วนของงบประมาณที่เป็นสายทางกรุงเทพฯ – เชียงใหม่ออก แล้วยอดเงินตรงนั้นหายก็จะทำให้การแปรญัตติของเขาไปลดยอดเงินในยุทธศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับรถไฟความเร็วสูง แต่ทั้งนี้เขาก็ต้องมาเสนอความเห็นกับสภาผู้แทนราษฎรว่าของเขามีเหตุและมีผล ถ้าสภาผู้แทนราษฎรเสียงข้างมากเห็นด้วยก็เป็นไปตามข้อเสนอของผู้แปรญัตตินั้น แต่ถ้าไม่เห็นด้วยก็กลับไปเป็นตามร่างเดิม

พิธีกร : แต่มีการตั้งข้อสังเกตและข้อสงสัยในการเบิกจ่ายงบประมาณทำอย่างไร ให้มีความโปร่งใส รวมถึงการจัดซื้อจัดจ้างในโครงการเหล่านี้

นายวราเทพฯ : ก็เรียน ที่มีการพูดกันเสมอว่าการกู้เงินจะเกิดการทุจริตจะเกิดการโกง ผมว่าไม่ว่าจะเป็นการที่เราจะใช้เงินกู้หรืองบประมาณปกติ ถ้ามันจะมีการทุจริตก็เกิดการทุจริตได้ทั้งนั้น แต่รัฐบาลนี้ได้คำนึงถึงเรื่องนี้ แล้วก็ท่านนายกรัฐมนตรีพยายามทำเรื่องของการทำให้เกิดความโปร่งใสป้องกันการทุจริตคอรัปชั่นมาโดยตลอด มาตรการที่คณะรัฐมนตรีได้ดำเนินการไม่ว่าจะเป็นการประกาศราคากลาง ไม่ว่าจะการให้ความร่วมมือกับคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในกฎหมายฉบับนี้เราจะต้องนำเงินงบประมาณที่ได้จากการกู้ไปปฏิบัติตามขั้นตอนของกฎหมายทุกประการ ไม่สามารถหลีกเลี่ยงที่จะไปใช้ที่หย่อนกว่ากฎหมายเลย มีการเรียกร้องบอกว่าไม่ได้ดำเนินการตามระเบียบพัสดุ ในระเบียบพัสดุข้อที่ 6 เขาเขียนไว้ชัดเจนว่า เงินกู้หรือเงินงบประมาณใด ๆ ก็ตามจะต้องมาดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างตามระเบียบพัสดุอยู่แล้ว ไม่สามารถที่จะไปดำเนินการให้ต่างจากระเบียบพัสดุอยู่แล้ว ยกเว้นกรณีที่เราเห็นโครงการใหญ่ ๆ ที่ระเบียบพัสดุไม่เอื้ออำนวยเนื่องจากว่าทำให้เกิดข้อจำกัดบางประการ เนื่องจากต้องมีเรื่องของการลงทุน ต้องมีที่ปรึกษา เขาก็ให้อำนาจกรรมการระเบียบพัสดุ ซึ่งเป็นข้าราชการหน่วยงานต่าง ๆ ระดับสูง เสนอให้มีการยกเว้นการใช้ระเบียบพัสดุ แต่เมื่อมีการยกเว้นการใช้ระเบียบพัสดุ ไม่ใช่หมายถึงปราศจากการควบคุม จะต้องมีวิธีการที่ดีกว่าระเบียบพัสดุหรือเข้มข้นกว่าระเบียบพัสดุมาควบคุมอยู่ดีครับ

พิธีกร : ส่วนการติดตามความคืบหน้าของโครงการจะมีการวัดผลอย่างไร ประชาชนจะมีส่วนร่วมอย่างไร หลังจากที่ผ่าน พ.ร.บ.ไปแล้ว 2 ล้านล้านบาท โครงการเป็นไปตามยุทธศาสตร์หรือเงื่อนระยะเวลาที่วางไว้

นายวราเทพฯ : ในขั้นตอนที่พระราชบัญญัตินี้กำหนด หน่วยงานต่าง ๆ จะต้องเสนอคณะรัฐมนตรี โดยก่อนเสนอคณะรัฐมนตรีต้องผ่านความเห็นชอบของ 3 หน่วยงาน คือ สภาพัฒน์ฯ กระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ เพื่อพิจารณาโครงการ คอยช่วยตรวจสอบ ขณะนั้นผมคิดว่าประชาชนคงติดตามกันอยู่แล้ว หลังจากที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ความเห็นชอบอนุมัติดำเนินการไปแล้ว เมื่อสิ้นปีงบประมาณพระราชบัญญัติฉบับนี้ก็กำหนดไว้ว่า ต้องกลับไปรายงานสภาฯ สภาฯก็ต้องตรวจสอบได้หลังจากสิ้นปีงบประมาณ แต่ระหว่างทางกรรมาธิการสภาผู้แทนราษฎร หรือกรรมาธิการวุฒิสภาทุกคณะ เรียกไปตรวจสอบได้ตลอดเวลา
พิธีกร : อีกเรื่องหนึ่งที่ประชาชนเป็นห่วง คือ ภาระหนี้ที่จะเกิดขึ้นจากการลงทุนครั้งนี้ 2 ล้านล้านบวกดอกเบี้ยที่ท่านรองฯ กิตติรัตน์ยอมรับว่ามีดอกเบี้ยเพิ่มเติมอีกแน่นอน 3 ล้านล้าน รวมเป็น 5 ล้านล้านในระยะเวลา 50 ปี เป็นภาระหนักอึ้งของคนไทยทั้งประเทศหรือไม่อย่างไร

นายวราเทพฯ : ถ้าพูดด้านเดียวน่ากลัว ถ้าพูดเรื่องหนี้ ดอกเบี้ย 50 ปี เหล่านี้น่ากลัว แต่ถ้าพูดคู่ไปกับรถไฟความเร็วสูงที่เราจะได้ รถไฟรางคู่ที่เราจะได้ ท่าเรือที่เราจะได้ ถนนมอเตอร์เวย์ที่เราจะได้ ถนนสายต่าง ๆ ที่เราจะได้ เชื่อมด่านต่าง ๆ ทุกอย่างนั้นถ้าเรามาพูดพร้อมกันทั้ง 2 ด้าน พูดทั้งบัญชีในด้านหนี้ และพูดทั้งบัญชีในด้านทรัพย์สิน เราจะเห็นว่าบัญชีในด้านทรัพย์สินเราจะสร้างรายได้ มันก็จะทำให้เกิดความรู้สึกดีกว่าพูดด้านเดียวใช่ไหม วันนี้รัฐบาลไม่ได้กู้เงินมาเพื่อสูญเปล่า เพื่อมาแจกให้หายไปโดยไม่สร้างรายได้ รายได้นี้จะกลับมา ผมเชื่อมั่นว่าอย่าว่า 50 ปีเลย ทรัพย์สินนี้น่าจะอยู่เป็น 100 ปีก็ไม่ทราบ และจะเกิดประโยชน์มหาศาล ถ้าเราไม่ทำวันนี้ ผมคิดว่าราคาที่เราคิดว่า 2 ล้านล้านบวกดอกเบี้ยไปอีก 2-3 ล้าน ถ้าเราชำระเร็วกว่ากำหนดก็อาจจะไม่ถึงถ้ามีรายได้เข้ามา วันข้างหน้าอีกสัก 10 ปี แล้วเราค่อยไปทำ ผมคิดว่าราคานี้คงไม่ได้ อันนี้เป็นหลักทั่วไปที่เราเคยเห็นมาแล้ว แต่ว่าราคาผมว่าเป็นส่วนหนึ่ง แต่ส่วนสำคัญก็คือ โอกาส โอกาสถ้าเราไม่ทำวันนี้ แล้วเมื่อไหร่เราจะได้ใช้ ก็คงไม่คิดกันว่า พวกเรา ครม.อายุเฉลี่ยกัน 40-50 ปี อยากจะเห็นเร็ว ๆ กัน แต่ผมก็เชื่อว่าคนรุ่นใหม่ ๆ ก็อยากจะเห็น อยากจะใช้ แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดไม่ใช่เฉพาะคนไทยที่จะใช้ คนต่างชาติที่จะมาเมืองไทย เราไม่ได้ทำให้คนต่างชาติมาใช้ฟรี ๆ เราทำแล้วเราได้รายได้จากคนต่างชาติเข้ามา ทั้งรายได้ที่เป็นค่าโดยสาร ทั้งรายได้ที่มาจากการท่องเที่ยว และสิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ ต้นทุนที่เราจะผลิตสินค้าส่งออกไปยังต่างประเทศ รายได้จะเกิดขึ้นกับคนไทยอย่างมหาศาล รายได้ที่เกิดขึ้นเราคิดว่ามันสูง แต่เราต้องดูในด้านทรัพย์สินด้วย

พิธีกร : เพราะฉะนั้นก็คงต้องบอกว่า ต้องกล้าที่จะลงทุน ต้องยอมที่จะกู้ แต่ว่านี่คือเพื่อประโยชน์ของคนไทยทั้งประเทศในอนาคต เพราะว่านี่เป็นการกู้เพื่อปรับโครงสร้างพื้นฐานของประเทศไทย เพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน และที่สำคัญคือเพิ่มโอกาสให้กับคนไทยทุกคนด้วย

นายวราเทพฯ : และสร้างรายได้ให้กับประเทศครับ

พิธีกร : วันนี้ขอบคุณ คุณวราเทพฯ มากครับ ท่านผู้ชมครับนี่เป็นอีกก้าวสำคัญที่รัฐบาลนั้น ได้พยายามอย่างที่ในการที่จะเปลี่ยนแปลงและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนคนไทยทั้งประเทศ โดยการปรับปรุงพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานครั้งใหญ่ ด้านการคมนาคมขนส่ง โดยการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานถึง 2 ล้านล้านบาทด้วยกันครับ ทั้งหมดนี้คือ รายการรัฐบาลยิ่งลักษณ์พบประชาชน ผมธีรัตถ์ รัตนเสวี สวัสดีครับ

………………………………………….


กลุ่มยุทธศาสตร์และแผนการประชาสัมพันธ์ สำนักโฆษก

Comments