นายกรัฐมนตรีให้ความเชื่อมั่นนักลงทุนเยอรมัน ธุรกิจไทยเติบโตมั่นคง รัฐบาลเร่งสร้างศักยภาพการแข่งขัน


นายกรัฐมนตรีให้ความเชื่อมั่นนักลงทุนเยอรมัน ธุรกิจไทยเติบโตมั่นคง รัฐบาลเร่งสร้างศักยภาพการแข่งขัน

นายกรัฐมนตรีเข้าร่วมงานเลี้ยงอาหารกลางวันและกล่าวสุนทรพจน์ในหัวข้อ "European Investments in Thailand and the Kingdom's Future Strategies towards AEC 2015” ของหอการค้าไทย-เยอรมัน ในโอกาสประชุมใหญ่สามัญประจำปี  “GTCC Annual Ordinary General Meeting” ณ โรงแรมเชอราตัน แกรนด์ สุขุมวิท

(27 มี.ค. 56) เวลา 12.00 น. นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีเข้าร่วมงานเลี้ยงอาหารกลางวันและกล่าวสุนทรพจน์ในหัวข้อ "European Investments in Thailand and the Kingdom's Future Strategies towards AEC 2015” ของหอการค้าไทย-เยอรมัน ในโอกาสประชุมใหญ่สามัญประจำปี  “GTCC Annual Ordinary General Meeting” ณ โรงแรมเชอราตัน แกรนด์ สุขุมวิท กรุงเทพฯ สรุปสาระสำคัญดังนี้


นายกรัฐมนตรีกล่าวขอบคุณหอการค้าไทย-เยอรมันที่มีส่วนสำคัญในการช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย และร่วมยืนหยัดผ่านช่วงเวลาอันยากลำบากเคียงคู่ประเทศไทยมาตลอด ทั้งนี้ความสำเร็จของการฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยจากปัญหาอุทกภัยเมื่อปี 2554 ส่วนหนึ่งมาจากการลงทุนอย่างต่อเนื่องของนักธุรกิจและสินค้าที่มีคุณภาพจากเยอรมนี

ในโอกาสนี้นายกรัฐมนตรีได้ย้ำถึงความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ ไทยและเยอรมนีที่มีความแนบแน่นและมีพื้นฐานความสัมพันธ์การค้าการลงทุนระหว่างกันมายาวนาน  นับตั้งแต่การทำสนธิสัญญาทางไมตรี การค้า และการเดินเรือระหว่างกัน เมื่อ 150 กว่าปีที่แล้ว นับจากนั้นธุรกิจเยอรมนีได้นำเทคโนโลยีและการลงทุนมาสู่ประเทศไทยในหลายสาขา อาทิ การธนาคาร โครงสร้างพื้นฐาน อุตสาหกรรมยานยนตร์ รวมถึงธุรกิจที่เยอรมนีมีความเชี่ยวชาญ โดยนายกรัฐมนตรีได้พบนายกรัฐมนตรีเยอรมัน และต่างเห็นพ้องถึงความสำคัญที่ทั้งสองประเทศจะต้องส่งเสริมผลประโยชน์และผลักดันกระบวนการทางด้านประชาธิปไตยร่วมกัน ด้วยความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างไทยกับเยอรมนีดำเนินไปด้วยความราบรื่นและมั่นคง เยอรมนีจึงเป็นหุ้นส่วนทางการค้าที่ใหญ่ที่สุดในสหภาพยุโรป การลงทุนจากเยอรมนีเมื่อปีทีแล้วมีมูลค่ากว่า 6 แสนล้านบาท ทั้งนี้ทั้งสองประเทศจึงควรร่วมมือและผลักดันความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างไทย-เยอรมนี ทั้งในด้านการเมืองและเศรษฐกิจให้มั่นคงต่อไป

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีได้กล่าวให้ความมั่นใจถึงศักยภาพทางเศรษฐกิจและฐานะการคลังที่แข็งแกร่ง ไทยมีเสถียรภาพทางการเมือง และมีนโยบายสนับสนุนการบริโภคภายในประเทศ รวมทั้งปัจจัยด้านการส่งเสริมการลงทุนของไทยที่ผลักดันให้เศรษฐกิจเติบโตกว่าที่คาดไว้ในปีก่อนที่ร้อยละ 6.4 โดยในปีนี้คาดว่าจะเติบโตที่ร้อยละ 4.5​​-5.5 นอกจากนี้รัฐบาลยังลดภาษีเงินได้นิติบุคคลจากร้อยละ 30 ให้เหลือร้อยละ 20 ทั้งนี้ Fitch ยังได้ปรับเพิ่มอันดับความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้ระยะยาวสกุลเงินต่างประเทศของรัฐบาลจากระดับ BBB เป็น BBB+ ซึ่งไม่เพียงสะท้อนให้เห็นถึงความมั่นคงทางการเมือง แต่ยังรวมถึงฐานะทางการเงินที่ดีอีกด้วย นอกจากนี้การจัดเก็บรายได้ภาษีของไทยยังได้เกินเป้าหมาย สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP อยู่ที่ประมาณร้อยละ 44 ณ เดือนมกราคม 2556

เพื่อให้ประเทศมีการเติบโตอย่างยั่งยืน มั่นคง และทั่วถึง รวมทั้งยกระดับศักยภาพการแข่งขัน นายกรัฐมนตรีได้กล่าวถึงแผนการลงทุนของประเทศในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน เนื่องจากใน 10 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยยังขาดการลงทุนในโครงการด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ไม่เพียงพอ จึงทำให้ในธุรกิจต่างๆมีค่าใช้จ่ายสูง มีความได้เปรียบด้านการแข่งขันน้อย เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ทั้งนี้ รัฐบาลจึงได้ลงทุนในโครงการโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ โดยเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งจะสร้างโอกาสและรายได้ใหม่ๆจากการค้าชายแดนที่เพิ่มขึ้น อันจะเป็นการยืนยันถึงความเป็นศูนย์กลางการขนส่ง และเป็นประตูสู่อาเซียนของไทย โดยจะมีการออกร่างพระราชบัญญัติ และนำเสนอต่อรัฐสภาเพื่อพิจารณา โดยรัฐบาลขอเชิญชวนให้นักลงทุนชาวเยอรมันเข้ามาร่วมลงทุนในโครงการโครงสร้างพื้นฐานของไทย

นอกจากนี้ การลงทุนในการจัดการทรัพยากรน้ำ โดยรัฐบาลจะลงทุนในโครงการบริหารจัดการน้ำจำนวน  9 พันล้านยูโร เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและสร้างความปลอดภัยในภูมิภาค และแก่นักลงทุนจากปัญหาอุทกภัย ทั้งนี้ รัฐบาลจะสามารถดำเนินโครงการได้ก่อนสิ้นปี โดยขณะนี้อยู่ในระหว่างขั้นตอนการทบทวนข้อเสนอ ผ่านขั้นตอนการประมูลระหว่างประเทศอย่างละเอียดและโปร่งใส

สำหรับการส่งเสริมการค้าและการลงทุน รัฐบาลส่งเสริมการค้าเสรีเพื่อสนับสนุนและขยายตลาด ด้วยความเป็นผู้นำของไทยในด้านความเชื่อมโยงในภูมิภาค ส่งผลให้การลงทุนต่างๆมีมูลค่ามากขึ้นและมีตลาดที่กว้างขึ้น ซึ่งสิทธิประโยชน์เหล่านี้จะถูกเน้นย้ำผ่านการเจรจาข้อตกลงเขตการค้าเสรี  ทั้งนี้ ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก รัฐบาลกำลังดำเนินการเจรจาเสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจกับกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนและ 6 ประเทศคู่ค้าหลัก ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และอินเดีย

สำหรับสหภาพยุโรป นายกรัฐมนตรีกล่าวว่ามีความยินดีอย่างยิ่งที่รัฐบาลได้เริ่มการเจรจาความตกลงการค้าเสรีไทย-สหภาพยุโรปแล้ว และยังได้บทสรุปเกี่ยวกับข้อตกลงความเป็นหุ้นส่วนร่วมมือระหว่างกันในทุกด้านของไทย-สหภาพยุโรป (Thai EU Partnership Cooperation Agreement – PCA) จากการเยือนสหภาพยุโรปเมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา โดยนายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นว่าความตกลงเหล่านี้จะช่วยผลักดันการค้าการลงทุนระหว่างสองฝ่ายอย่างได้อย่างมาก

ในตอนท้าย นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงความสำคัญของการเจริญเติบโตอย่างยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และเน้นย้ำว่าการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยจะต้องเป็นไปอย่างยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยไทยจะอาศัยทักษะความรู้ เทคโนโลยี และการลงทุนจากประเทศเยอรมนีเพื่อพัฒนาประเทศไทย ทั้งนี้ ในการหารือกับนางแองเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีเยอรมนีและต่างเห็นพ้องกันที่จะร่วมมือกันด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อเสริมสร้างประสิทธิภาพปละความพอเพียงแก่พลังงานธรรมชาติ และสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาพลังงานทางเลือกและเทคโนโลยีสีเขียว โดยรัฐบาลมีความยินดีที่จะร่วมทำงานกับนักลงทุน โดยเฉพาะในด้านเทคโนโลยีการก่อสร้างและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และยืนยันว่ารัฐบาลจะเดินหน้าพัฒนาประเทศไทยให้เป็นประเทศที่เหมาะแก่การอยู่อาศัยและการลงทุนทั้งต่อนักลงทุนและต่อครอบครัวอย่างดีที่สุด และเชื่อมั่นว่าความเอื้ออาทรและไมตรีจิตของประชาชนชาวไทย ประกอบกับวัฒนธรรมอันงดงามและอาหารไทยเลื่องชื่อจะเป็นส่วนสำคัญในการสนับสนุนให้นักลงทุนต่างชาติประสบความสำเร็จในการลงทุนในประเทศไทย



***********************************

วิเทศสัมพันธ์ / สำนักโฆษก



Comments