นายกรัฐมนตรีย้ำถึงความสำคัญของการทำงานร่วมกันของภาครัฐและภาคเอกชน กลไกสำคัญเพื่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

(13 มีนาคม 56) นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตรนายกรัฐมนตรี ร่วมหารือกับผู้นำและภาคเอกชนประเทศสมาชิก ACMECS พร้อมด้วยเลขาธิการอาเซียน เพื่อย้ำถึงความสำคัญของการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนในทุกระดับ โดยนายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี สรุปการหารือ ดังนี้

ประธานหอการค้าและอุตสาหกรรมแห่งชาติลาว สภาธุรกิจร่วม ACMECS รายงานผลการประชุมการประชุมคณะนักธุรกิจ ACMECS ที่มีผู้แทนจากไทยและประเทศ ACMECS เข้าร่วม และมีการหารือถึงสาขาความร่วมมือต่างๆที่มีศักยภาพ รวมทั้ง การผลักดันการอำนวยความสะดวกทางการค้า การลงทุน การท่องเที่ยว เกษตรกรรม การขนส่ง การส่งเสริมอุตสาหกรรม และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ โดยผู้แทนธุรกิจได้เรียกร้องให้ผู้นำ ACMECS เร่งดำเนินการตามแผนปฏิบัติการ ACMECS 2013 – 2015 เพื่อสร้างโอกาสและความมั่งคั่งแก่ประเทศ ACMECS สำหรับการอำนวยความสะดวกการค้าและการลงทุน ได้ขอให้ผู้นำ ACMECS เร่งผลักดัน ดำเนินการโครงการบ้านพี่เมืองน้อง หรือ The Sister Cities เพื่อ
เป็นกลไกสำคัญในขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ของ ACMECS การสนับสนุนบริการแลกเปลี่ยนเงินสกุลท้องถิ่น และเห็นควรสนับสนุนการใช้เงินสกุลท้องถิ่นในการค้าขายชายแดน และ สนับสนุนบริการแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างธนาคารแห่งชาติของประเทศสมาชิก ACMECS รวมทั้ง บริการในลักษณะ One Stop Service และ Single Stop Inspection เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านเกษตรกรรม ขอให้เร่งดำเนินการ Contact Farming ให้สำเร็จโดยเร็ว รวมทั้งความร่วมมือกลุ่มประเทศ ACMECS เรื่องข้าว ที่ภาครัฐและเอกชนของแต่ละประเทศควรจะได้มีการร่วมหารือกัน เพื่อเป็นกลไกหลักของการขับเคลื่อนความร่วมมือ ด้านความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมและการลงทุน ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมเขตเศรษฐกิจพิเศษและการพัฒนานิคมอุตสาหกรรม รวมทั้ง ส่งเสริมโครงการท่องเที่ยว “ห้าประเทศ จุดหมายเดียว” และขอรับการสนับสนุนจาก องค์กรความร่วมมือด้านการพัฒนาของไทย หรือ TICA ให้ทุนการศึกษาและสนับสนุนการเรียนการสอน ภายใต้ความร่วมมือการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงบทบาทสำคัญของภาคเอกชน นักธุรกิจ และการส่งเสริมการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชน โดยย้ำว่าไทยให้ความสำคัญกับการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนในทุกระดับ โดยตระหนักว่าภาคเอกชนคือพลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และยินดีที่ ACMECS ซึ่งมีกลไกหารือกับภาคเอกชนด้วย เช่น ผลสำเร็จในการลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการจัดตั้งสภาธุรกิจไทย – กัมพูชา ซึ่งจะเป็นกลไกในการปรึกษาหารือระหว่างภาคเอกชนทั้งสองฝ่ายคู่ขนานไปกับกลไกของภาครัฐ การตอบรับต่อแผนปฏิบัติการ ACMECS ฉบับใหม่ของภาคเอกชน แสดงให้เห็นว่า ภาครัฐและภาคเอกชนเห็นพ้องกับกรอบทำงานร่วมกัน ซึ่งภาครัฐพร้อมที่จะอำนวยความสะดวกอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สามารถค้าขาย ลงทุน และดำเนินธุรกิจได้อย่างคล่องตัว โดยแผนปฏิบัติการฉบับใหม่นี้ จะสามารถช่วยตอบโจทย์ให้กับภาคเอกชน ซึ่งประสงค์จะเห็นการเชื่อมโยงการผลิต และเศรษฐกิจเสมือนเป็นห่วงโซ่อุปทานที่คล้องประเทศสมาชิกไว้ด้วยกัน การร่วมผลักดันให้ภูมิภาคประเทศสมาชิก ACMECS เป็นฐานการผลิตเดียว และเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่การผลิตทั้งสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมที่สำคัญของโลก จำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการอำนวยความสะดวกการค้าและการลงทุนควบคู่กันไป นอกจากนี้ การส่งเสริมการใช้เงินสกุลท้องถิ่นสำหรับการค้าและการทำธุรกรรมตามแนวชายแดน ถือเป็นผลสำเร็จของ ACMECS ที่สามารถทำให้การค้าสะดวกขึ้น และขอให้ประเทศสมาชิก ACMECS อนุญาตให้ธนาคารจากประเทศสมาชิกเปิดสำนักงานสาขาเพื่อจูงใจการขยายการลงทุนในประเทศลุ่มน้ำโขง รวมทั้งสนับสนุนการจัดทำความตกลงที่เกี่ยวข้อง เช่นความตกลงส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุน และความตกลงเพื่อยกเว้นภาษีซ้อนระหว่างชาติสมาชิกด้วยกัน ตลอดทั้งข้อเสนอของภาคเอกชนในการผลักดันการจับคู่เมืองคู่แฝดให้มีพื้นที่ชายแดนของทั้งสองฝ่าย เพื่อช่วยขับเคลื่อนให้พื้นที่ชายแดนเป็นพื้นที่แห่งการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม การสนับสนุนการพัฒนาทักษะแรงงานและการวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อให้ตอบสนองการลงทุนที่จะเพิ่มขึ้นในประเทศสมาชิก ACMECS ที่จะเป็นฐานการผลิตเดียว และสามารถอยู่ในเส้นทางเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทานของโลกอีกด้วย ซึ่งในส่วนของการขอรับทุนการศึกษาให้กับสถาบันการศึกษาที่มีความเชี่ยวชาญนั้น ทางการไทยกำลังดำเนินการร่วมกับภาคเอกชนในแผนงานและงบประมาณเพื่อพัฒนาทรัพยากรบุคคลต่อไปในอนาคต ภาครัฐและเอกชนจำเป็นต้องทำงานอย่างใกล้ชิดในทิศทางเดียวกัน และเป็นหุ้นส่วนอย่างแท้จริง เพื่อผลสำเร็จในการลดความเหลื่อมล้ำทางรายได้และเศรษฐกิจ ความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจแบบยั่งยืน และเพื่อชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของประชาชนทั่วทั้งอนุภูมิภาค

Comments